บิ๊กรับเหมาแห่ชิงดำ แข่งประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 7.8 หมื่นล้าน
ข่าววันนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้เอกชนที่ซื้อซองเอกสาร เข้ายื่นข้อเสนอในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มูลค่าโครงการ 7.8 หมื่นล้านบาท พบว่ามีเอกชน 5 ราย เข้ายื่นเอกสาร ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอน จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จับมือกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เข้ายื่นซองข้อเสนอประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นกลุ่มแรก จำนวน 265 กล่อง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน ) หรือ ITD จับมือร่วมกับ บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR เป็นกลุ่มที่ 2 จำนวน 150 กล่อง และ บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ จำนวน 500 กล่อง
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามรฟม. เปิดให้เอกชนที่ซื้อซองเอกสาร ยื่นข้อเสนอได้ในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ เบื้องต้นประเมินว่าการแข่งขันในโครงการนี้น่าจะคึกคัก เอกชนกลุ่มรับเหมาทั้งไทยและต่างชาติสนใจเข้าร่วมยื่นข้อเสนอแน่นอน เพราะถือเป็นโครงการประกวดราคาที่มีมูลค่าสูง และเป็นงานภาครัฐส่งท้ายปี 2564
“โครงการนี้มีคนซื้อซองเอกสารค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าสูง แต่น่าจะได้เห็นบรรยากาศการแข่งขันของผู้รับเหมารายใหญ่มากกว่า เนื่องจากข้อกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกของ รฟม.ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์งานขนาดใหญ่ และงานเฉพาะ ดังนั้นจะมีเอกชนรายใหญ่เท่านั้นที่คุณสมบัติเข้าเกณฑ์” นายภาคภูม กล่าว
แหล่งข่าวจากบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ยื่นซองข้อเสนอครบทั้ง 6 สัญญา ซึ่งแต่ละสัญญาเข้าเกณฑ์ทีโออาร์และมีความเป็นไปได้ที่จะชนะการประมูล โดยบริษัทฯไม่ได้จับกลุ่มพันธมิตรกับบริษัทอื่นแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าหลักเกณฑ์ทีโออาร์จะมุ่งเน้นงานก่อสร้างอุโมงค์ทางเทคนิค แต่บริษัทเชื่อว่าจากประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาจะสามารถเข้าร่วมประมูลได้โดยไม่ต้องมีซับคอนแทค
รายงานข่าวจาก รฟม. ระบุว่า ขณะนี้มีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติซื้อซองเอกสารโครงการดังกล่างรวม 12 ราย แบ่งเป็น เอกชนไทย 7 ราย เอกชนต่างชาติ 5 ราย เป็นจีน 1 ราย ญี่ปุ่น 3 ราย และเกาหลี 1 ราย รฟม.คาดว่าจะเสนอผลการคัดเลือกเอกชนให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาผู้ชนะประมูลภายในไตรมาสแรก ปี 2565 จากนั้นจะลงนามสัญญาทันทีภายในไตรมาส 2 เพื่อเร่งรัดเริ่มงานก่อสร้างภายในไตรมาส 3 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญา 2,005 วัน แล้วเสร็จประมาณปลายปี 2570