รีเซต

KKPAMปั้นAUMโตกว่า10% กองทุนตราสารหนี้ตอบรับดี

KKPAMปั้นAUMโตกว่า10% กองทุนตราสารหนี้ตอบรับดี
ทันหุ้น
10 กุมภาพันธ์ 2568 ( 18:57 )
5

#KKPAM #ทันหุ้น - KKPAM ตั้งเป้าหมาย AUM ในปี 2568 เติบโตขึ้นมากกว่า 10% ได้รับแรงหนุนจากกองทุนตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งดีกว่าดอกเบี้ยแบงก์ และจ่ายผลตอบแทนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม ทางด้านลูกค้า Wealth Management ได้เริ่มกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัว คาด GDP โตเพียง 2.6%


นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร หรือ KKPAM ในปี 2568 ตั้งเป้าหมายสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) เติบโตขึ้นแบบสองหลัก (Double Digits) หรือมากกว่า 10% จากปี 2567 ที่ AUM มีอยู่ประมาณ 250,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40-50% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำ


“การเติบโตดังกล่าวมาจากปัจจัยหนุน ในจังหวะการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น ช่วงที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าที่มีสภาพคล่องสูง เลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้มากกว่าไปฝากเงินกับธนาคาร เนื่องจากตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินแบงก์ ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลงก็ยังเป็นโอกาสของการลงทุนในตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน”


ส่งผลให้พอร์ตกองทุนตราสารหนี้ของ KKPAM มีการเติบโตขึ้น ประกอบกับการบริหารจัดการกองทุนที่ดีทำให้มีผลตอบแทนเป็นอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม


ทั้งนี้กองทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในประเทศมากกว่าต่างประเทศ และเป็นตราสารหนี้มากกว่าตราสารทุน ขณะที่ลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง (Wealth Management) ได้เริ่มกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงกระจายลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ โดย ณ สิ้นปี 2567 มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) อยู่ที่ 907,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.22%


@GDP โตเพียง 2.6%

ทางด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย GDP ในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 2.7% เล็กน้อย โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ ขณะที่แรงส่งนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการฟื้นตัวกลับมาเกือบปกติของภาคท่องเที่ยว


อีกทั้งปัญหาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออกยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจกำลังส่งผลทางลบต่อการบริโภคสินค้าคงทนและภาคอสังหาริมทรัพย์


@ไทยเสี่ยงโดนขึ้นภาษี

ด้านปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐที่อาจใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง โดยไทยติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ มากที่สุด และอาเซียนเองก็เกินดุลการค้าเป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้น ทำให้ไทยและอาเซียนอาจตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐ และส่งผลต่อภาคการค้าไทยได้


ทั้งนี้นอกจากกลุ่มสินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบแล้ว ไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดบางกลุ่มสินค้า รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยมีอัตราภาษีและมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ในขณะที่ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานลงทุน จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและเจรจาต่อรองให้เกิดผลดีที่สุด


@หนี้สาธารณะใกล้แตะ 70%

โดยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีไม่แน่นอน การใช้นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยง นอกจากนี้การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคาดว่าน่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้ และรัฐบาลยังคงใช้นโยบายขาดดุลด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านการคลังกำลังมีมากขึ้นและหนี้สาธารณะที่ขยับใกล้แตะเพดาน 70% ของ GDP รัฐบาลอาจต้องมีการทบทวนว่าจะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ และเนื่องจากระดับรายได้ภาษีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ตลอดจนความจำเป็นในการใช้จ่ายภาครัฐที่มีมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ ขยายฐานภาษี และปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ดูแลเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง