"จุลพันธ์" ลุยอีสานวันที่ 2 ช่วยชาวหนองคาย-บึงกาฬ ชู ธ.ก.ส. พักหนี้-หยุดดอกเบี้ย 1 ปีทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2567 ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมคณะ ผู้บริหาร ธนาคาร ธกส. และผู้บริหารกรมศุลกากร ลงพื้นที่จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอปาดคาด ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้รัฐมนตรีกระจายกำลังกันลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชน
โดยมีนายนิพนธ์ คนขยัน ส.ส.บึงกาฬ เขต 3 , นางสาวชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย เขต 2 , นายเอกธนัช อินทร์รอด ส.ส.เขต 3 พรรคเพื่อไทย รวมถึงนายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ , นายวินัย โตเจริญ รอง.ผวจ.บึงกาฬ พร้อมส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ให้การต้อนรับ และร่วมแจกถุงยังชีพให้กับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ตำบลปากคาด ตำบลนากั้ง ตำบลนาดง และตำบลหนองยอง จำนวน 23 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำโขงล้นตลิ่ง ทำให้น้ำเข้าท่วมนาข้าว สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และบ่อปลา จำนวน 640 ราย พื้นที่กว่า 4,300 ไร่ และกล่าวให้กำลังใจผู้ประสบภัยทุกคนว่าขอให้สู้ไปด้วยกัน รัฐบาลไม่ทิ้งประชาชนแน่นอน โดยจะเร่งรัดเงินเยียวยาให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด
ขณะที่มาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยจาก ธ.ก.ส. นายจุลพันธ์ ระบุว่า มีมาตรการเลื่อนกำหนดหนี้สิน 1 ปี และไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนประชาชนในพื้นที่ประสบภัยที่จำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนจะมีสินเชื่อเร่งด่วน 6 เดือน 50,000 บาท สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมบ้าน 500,000 บาท ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดำเนินการได้ที่สาขาธนาคารในพื้นที่ประสบภัย พร้อมขอให้ผู้ใหญ่บ้านประสานงานกับอำเภอ และจังหวัด เพื่อสำรวจความเสียหายทั้งบ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตร เพื่อขอรับเงินชดเชยตามมาตรการที่กำหนดไว้ รวมถึงต้องมาวางระบบการแก้ไขปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับระบบชลประทาน หาวิธีจัดการระบบน้ำท่วมน้ำแล้งให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ ยังได้กล่าวย้ำถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ปลายเดือนนี้กลุ่มเปราะบางจะได้รับเงิน 10,000 บาทอย่างแน่นอน และขอให้ประชาชนอดทนรอ เพราะรัฐบาลจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว 180,000 ล้านบาท เพื่อที่จะเติมเงินให้ประชาชน นอกจากนี้ยังได้แจ้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายถึงงบประมาณจังหวัดที่มีอยู่ 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งหากต้องการเพิ่มเติมจะแจ้งทางกรมบัญชีกลางให้อนุมัติอีก 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่น้ำท่วมใน จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ ถือเป็นการบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักนายกรัฐมนตรี ในการผนึกกำลังเข้าช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยนำถุงยังชีพ และของใช้จำเป็นสำหรับการอุปโภคบริโภคมามอบให้แก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.หนองคาย และจ.บึงกาฬ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป