ดีอีเอสเร่งของขวัญ เน็ตความเร็วสูงฟรี ลดเหลื่อมล้ำ
หลังจากที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ประกาศของขวัญปีใหม่ในช่วงท้ายปี 2564 หนึ่งในของขวัญนั้นคือ “โครงการบริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน หรือไวไฟฟรีเพื่อประชาชน” โดยจัดบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ความเร็ว 200/100 Mbps ครอบคลุม 8,255 จุดทั่วประเทศ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยระดับตำบล ห้องสมุดประชาชน โรงเรียนด้อยโอกาส ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ยุติธรรมชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน และศูนย์ดิจิทัลชุมชน
โครงการนี้ นายชัยวุฒิต้องการให้ “ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการฟรี เพื่อให้เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและและการบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพ สร้างธุรกิจ และเพิ่มรายได้ในชุมชนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนผ่านบริการดิจิทัลต่างๆ”
หลังจากเปิดปีใหม่มาไม่นานได้มีการประชุมคณะทำงานอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ครั้งที่ 1/2565 ตามข้อสั่งการของ รมว.ดีอีเอส ที่มีนโยบายให้อินเตอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และให้เร่งจัดทำโครงการฟรีอินเตอร์เน็ตผู้มีรายได้น้อยเสร็จโดยเร็ว
โดย นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำดีอีเอส เป็นประธานการประชุม พร้อมทั้ง นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการฟรีไวไฟเพื่อผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และชุมชนเป้าหมาย
เป้าหมายของโครงการคือ การลดภาระค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และชุมชนเป้าหมาย ส่งเสริมการสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และอำนวยความสะดวกกลุ่มเป้าหมายผ่านอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการให้บริการและการให้ข้อมูลสำหรับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการโอนเงิน การสื่อสาร เป็นต้น
ที่สำคัญคือ เด็กนักเรียนในพื้นที่จะได้ใช้บริการในการเรียนออนไลน์ อันจะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ด้วย โดยเน้นที่ชุมชนแออัดก่อน ซึ่งความหมายของชุมชนแออัดคือในพื้นที่ 1 ไร่ มีครัวเรือนอาศัยอยู่มากกว่า 15 ครัวเรือนขึ้นไป
ที่ประชุมได้ทำการพิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกชุมชนสำหรับดำเนินการในระยะเร่งด่วน ตลอดจนข้อมูลชุมชนของหน่วยงานต่างๆ อาทิ ข้อมูลชุมชนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ข้อมูลชุมชนผู้มีรายได้น้อยของการเคหะแห่งชาติ ข้อมูลชุมชนแออัดของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ คาดว่าในระยะแรกจะเร่งดำเนินการสำหรับชุมชนแออัดและชุมชนผู้มีรายได้น้อยได้มากกว่า 2,000 ชุมชนทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับนโยบายมา ซึ่งได้มีการนำข้อมูลชุมชนแออัดของทั้งประเทศจากการเคหะแห่งชาติมาดูแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการดูพื้นที่ที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึง และไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับโครงการของการเคหะแห่งชาติ โดยที่ประชุมจะมีการประชุมวางแผนการทำงานทุกสัปดาห์เพื่อให้ภายในต้นเดือน ก.พ.2565 ได้รายชื่อของชุมชม 2,000 ชุมชนแรกก่อน
เมื่อได้รายชื่อ 2,000 ชุมชนแล้วจะเร่งนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เพื่อชงเข้าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ในการของบประมาณในการดำเนินโครงการนำร่อง คาดว่าจะใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินโครงการ 2-3 เดือน จากนั้นในระยะยาวจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับโครงการไปดำเนินการต่อ เป็นแผนในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของ กสทช.ต่อไป
ส่วนความเร็วในการให้บริการฟรีไวไฟ 200/100 Mbps นั้นสามารถให้บริการต่อ 1 จุด ได้ประมาณ 20 ครัวเรือน แต่ทั้งนี้ ต้องลงพื้นที่สำรวจความต้องการอีกครั้งหนึ่งว่าแต่ละชุมชนต้องติดตั้งกี่จุด ซึ่งความเร็วที่ให้ต้องเป็นความเร็วแบบลูกค้าองค์กร ต้องไม่มีการกระตุก ใช้งานได้จริง ส่วนจะให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) รายไหนเป็นผู้ติดตั้งนั้นอยู่ระหว่างการหารือและยังไม่ได้ข้อสรุป
“ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลเร่งผลักดันให้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เนื่องจากปัจจุบันอินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคน ทั้งการทำงาน การศึกษา การติดต่อสื่อสาร และกระทรวงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอแนวทางผลักดันให้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนมีค่าบริการราคาถูกหรือไม่มีค่าใช้จ่าย” นายเนวินธุ์กล่าว
โครงการไวไฟฟรีเพื่อประชาชนนี้ จะเป็นจุดเติมเต็มให้ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในโครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการเน็ตชายขอบ มีโอกาสเข้าถึงดิจิทัล
นพ.ประวิทย์ ลีสถาพรวงศา หนึ่งในกรรมการ กสทช. ให้ความเห็นว่า โครงการนี้เป็นการอุดรูรั่วสำหรับคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง หรือชุมชนแออัด ที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย เพราะพื้นที่เมืองจะเน้นให้ใช้บริการเชิงพาณิชย์ หมายความว่าไม่ว่าคนรวยคนจนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
โดยโครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการเน็ตชายขอบ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ชนบท ตามการแบ่งโซนที่ กสทช.กำหนดไว้คือ โซน B คือพื้นที่ส่งเสริมธุรกิจ โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย โซน C คือพื้นที่ที่ธุรกิจไม่เข้าไปลงทุนไม่มีบริการ ส่วนโซน A คือพื้นที่เชิงธุรกิจ ที่ไม่มี 2 โครงการดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้จะสามารถเข้าไปเติมเต็มได้ ซึ่งงบประมาณโครงการเริ่มต้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไหร่
แต่จะเป็นห่วงเรื่องงบประมาณการบำรุงรักษาที่จะมีอย่างต่อเนื่องหรือไม่