รีเซต

เรียกร้อง สมาชิกWSIS ใส่เกราะ ระวังภัย โลกไซเบอร์ ร่วมกัน

เรียกร้อง สมาชิกWSIS ใส่เกราะ ระวังภัย โลกไซเบอร์ ร่วมกัน
TNN ช่อง16
15 มีนาคม 2566 ( 17:01 )
42

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้เเทนไทย ได้ร่วมงาน World Summit on the Information Society Forum ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (WSIS Forum 2023) จัดโดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์การระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ  ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ ศูนย์การประชุมนานาชาตินครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคมของไทย ได้ร่วมกล่าวการประชุม High-Level Policy Session หัวข้อ “Building confidence and security in the use of ICTs” ได้กล่าวถึงความสำคัญของนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกฎหมายด้านดิจิทัล ของไทยที่พร้อมรับมือกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดทำร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ ที่ทันต่อภัยคุกคาม และส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมกันเพื่อช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีชัยวุฒิ ได้เสนอแนวทางร่วมแก้ปัญหา online scams ที่เป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลก และต้องใช้ความร่วมมือ ระหว่างประเทศในการแก้ปัญหา

 

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน นายชัยวุฒิ ได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ  Dr. Mohammed Saud Al Tamimi ตำแหน่ง Governor Communications, Space and Technology Commission (CST), จากประเทศซาอุดิอาระเบีย  โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ คือ การสนับสนุนงานของ ITU ในเรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมประชากรโลก โดยเฉพาะ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโครงข่ายภาคพื้นดิน แต่สามารถใช้โครงข่ายดาวเทียมในการเชื่อมโยง ซึ่งช่วยประหยัดเวลา และงบประมาณในการดำเนินการ  ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียแสดงความสนใจจะจัดทำความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  โดยมุ่งหวังให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) ที่จะนำไปสู่โครงการความร่วมมือที่มีผลเป็นรูปธรรม และช่วยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารของทั้งสองประเทศต่อไป  

สำหรับการประชุม WSIS เป็นการประชุมระดับโลกที่สำคัญด้าน โทรคมนาคมและสารสนเทศ ที่จัดเป็นประจำทุกปี เพื่อผลักดันให้ประชากรทั่วโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก ITU 193 ประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยเฉพาะผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมกว่า 30 ประเทศ  ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรส เคนยา ไนจีเรีย แกมเบีย ติมอร์เลสเต และผู้แทนระดับสูงจากองค์การระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ เช่นเลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการ WIPO, เลขาธิการ UPU เป็นต้น






ข่าวที่เกี่ยวข้อง