รีเซต

Google เปิดตัว Vlogger เอไอเปลี่ยนภาพนิ่งเป็นวิดีโอเคลื่อนไหวสมจริง

Google เปิดตัว Vlogger เอไอเปลี่ยนภาพนิ่งเป็นวิดีโอเคลื่อนไหวสมจริง
TNN ช่อง16
22 มีนาคม 2567 ( 16:20 )
82

หน่วยงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล (Google) พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอตัวใหม่ ที่สามารถสร้างวิดีโอจากภาพนิ่งของบุคคลต่าง ๆ โดยใช้แค่ภาพเดียวเท่านั้น แต่ออกมาเป็นวิดีโอที่ตัวบุคคลในภาพ สามารถเคลื่อนไหวได้สมจริง อีกทั้งยังสามารถใส่เสียงพูดประกอบวิดีโอได้อีกด้วย


ภาพจาก Github Google Vlogger

 

เอไอที่ว่านี้ชื่อว่า วล็อกเกอร์ (VLOGGER) ซึ่งใช้โมเดลการเรียนรู้ของเครื่องมือเอไอขั้นสูง ประมวลผลข้อมูลจากภาพนิ่งและเสียงที่ใส่ให้ เพื่อสร้างออกมาเป็นวิดีโอที่ตัวบุคคล แสดงสีหน้า การเคลื่อนไหว การขยับศีรษะ และท่าทางของมือที่สอดคล้องกัน 


เบื้องหลังความสามารถของเอไอนี้ คือการใช้โมเดล แมชชีน เลิร์นนิ่ง (machine learning) หรือการทำให้ระบบสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทีมวิจัยได้ใช้ เมนเทอร์ (MENTOR) หรือชุดข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งมีข้อมูลของรายละเอียดผู้คนต้นแบบกว่า 800,000 รายการ และวิดีโอความยาวกว่า 2,200 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ตัวเอไอ เรียนรู้ที่จะสร้างวิดีโอของผู้คนที่มีชาติพันธุ์ อายุ เสื้อผ้า ท่าทาง และสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย โดยไม่มีอคติ


นอกจากนี้ วล็อกเกอร์ (VLOGGER) ยังสามารถสร้างการเคลื่อนไหวของร่างกาย และริมฝีปากของตัวละครในวิดีโอ ให้เข้ากับข้อมูลไฟล์เสียงของผู้พูด ทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงสามารถเปลี่ยนเสียงพูดในวิดีโอ ให้กลายเป็นภาษาอื่นได้โดยอัตโนมัติ 


เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ จึงอาจเปิดโอกาสให้กับการสร้างสรรค์ผลงานวิดีโอที่กว้างไกลมากขึ้น เช่น ต่อไปนี้ใครที่อยากจะเป็นยูทูบเบอร์ ถ่ายวิดีโอเล่าเรื่อง แต่เขินกล้อง ก็อาจจะใช้เอไอตัวนี้ช่วยทำคลิปให้ หรือบริษัทต่าง ๆ อาจจะเอาเอไอตัวนี้ มาช่วยสร้างผู้ช่วยเสมือน ให้สามารถแสดงออก สื่อสารกับลูกค้า ได้น่าสนใจมากขึ้น 


ส่วนข้อจำกัดในตอนนี้ คือท่าทางการขยับของตัวละครที่อาจจะยังดูไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง สร้างวิดีโอได้ในความยาวที่ไม่มากนัก และวิดีโอที่ได้ ยังมีพื้นหลังแบบเดียว แต่ทั้งหมดนี้ ก็แสดงถึงความสามารถของเอไอ ในการสร้างภาพเคลื่อนไหวที่ดูสมจริงได้อย่างก้าวกระโดด


ผลงานชิ้นนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความท้าทาย ของบรรดาผู้พัฒนา ที่ต้องหันมาใส่ใจ ป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีนี้ ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นการปลอมแปลงตัวตน และการสร้างข้อมูลลวง ซึ่งยังมีกรณีเกิดขึ้นจริงให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลจาก venturebeat, cloud-acetomsguideenriccorona

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง