อังกฤษ ชี้ วัคซีน "ไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า" รับมือโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ดี

วันนี้ (15 มิ.ย.64) หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ หรือ PHE เปิดเผยผลการศึกษา กรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ หรือ แอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพสูง ในการป้องกันอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล กรณีติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดีย หรือ เดลต้า ได้ โดยวัคซีนของ "ไฟเซอร์" ป้องกันได้ร้อยละ 96 ส่วน "แอสตร้าเซนเนก้า" ป้องกันได้ร้อยละ 92 ส่วนการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว มีประสิทธิภาพไม่มากนักในการป้องกันอาการป่วยจากสายพันธุ์เดลต้า
การศึกษานี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง 14,019 คน ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าในอังกฤษ ในจำนวนนี้มี 166 คน ต้องนอนโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน-4 มิถุนายนที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 2 ทันทีเมื่อครบกำหนด เนื่องจากขณะนี้ อังกฤษยังคงกังวลกับโควิดสายพันธุ์นี้ที่แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟ่า ถึงร้อยละ 60 และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสป่วยถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลได้ถึง 2 เท่า
ด้าน สำนักงานควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพแอฟริกาใต้ ประกาศว่า จะไม่ใช้วัคซีนของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 2 ล้านโดส และต้องทิ้งไป หลังจากได้รับแจ้งมาจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอ ที่ระบุว่าวัคซีนล็อตดังกล่าวไม่ผ่านมาตรฐานคุณภาพ
ก่อนหน้านี้ เอฟดีเอของสหรัฐฯ เพิ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา ให้บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ทิ้งวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานในเมืองบัลติมอร์ของสหรัฐฯ เนื่องจากเกิดการปนเปื้อนในระหว่างการผลิต โดยคาดว่าวัคซีนล็อตนี้อาจมากถึง 10-60 ล้านโดส
ด้าน สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น รายงานว่า ญี่ปุ่นต้องทิ้งวัคซีนของไฟเซอร์เกือบ 6,400 โดส ในเมืองคาวาซากิ ใกล้กับกรุงโตเกียว เนื่องจากการเก็บรักษาไม่เหมาะสม หลังจากตู้เย็นที่ใช้เก็บรักษาวัคซีนเกิดเสีย ทำให้อุณหภูมิของตู้เย็นร้อนขึ้น จากปกติที่อยู่ระหว่างติดลบ 80 ถึง ลบ 60 องศาเซลเซียส แต่เมื่อตู้เย็นเกิดขัดข้อง ทำให้อุณหภูมิของตู้เย็น พุ่งขึ้นสูงสุดถึงระดับ 8-9 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องทิ้งวัคซีนไป ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากบุคลากรการแพทย์เป็นกลุ่มแรก และเพิ่งเริ่มฉีดให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ด้าน ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีอัตราที่รวดเร็วกว่ากระจายฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรทั่วโลก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์จนเป็นสายพันธุ์ใหม่ เช่น สายพันธุ์เดลต้า มีอัตราการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา ที่เข้าถึงวัคซีนน้อยกว่าทวีปอื่น
ทั้งนี้ ยอดติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ กว่า 177 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 3.8 ล้านคน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
