รีเซต

เปิดผลภูมิคุ้มกัน 8 สูตรวัคซีนโควิด พบฉีดเข็ม 3 จัดการ 'โอมิครอน' ได้ดี

เปิดผลภูมิคุ้มกัน 8 สูตรวัคซีนโควิด พบฉีดเข็ม 3 จัดการ 'โอมิครอน' ได้ดี
ข่าวสด
17 มกราคม 2565 ( 13:18 )
69
เปิดผลภูมิคุ้มกัน 8 สูตรวัคซีนโควิด พบฉีดเข็ม 3 จัดการ 'โอมิครอน' ได้ดี

กรมวิทย์ เผย ผลทดสอบภูมิคุ้มกัน 8 สูตร วัคซีนโควิด ในไทย พบจัดการเดลตาได้ดี แต่ลดลงใน โอมิครอน ทุกสูตร แนะมาฉีดเข็มสามตามกำหนด

 

วันที่ 17 ม.ค.2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผอ.สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดสอบภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน ด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) คือ การเจาะเลือดของผู้รับวัคซีนสูตรต่าง ๆ มาแล้ว 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นนช่วงที่ภูมิคุ้มกันขึ้นมากพอ

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า โดยมาปั่นแยกเอาซีรั่ม แล้วมาทดสอบกับไวรัสโควิดที่เพาะเลี้ยงในจานทดลองที่มีเชื้อเดลตาและโอมิครอน โดยจะเจือจางซีรั่มลงไปเป็นเท่าตัวจนกว่าจะสามารถฆ่าไวรัสลงได้ครึ่งหนึ่งจึงจะหยุด ซึ่งเป็นระดับสุดท้ายที่น่าจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ โดยมีการทดสอบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนทั้งหมด 8 สูตรที่มีการใช้ในประเทศไทย คือ

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า (SV-AZ), แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม (AZ-AZ), ไฟเซอร์ 2 เข็ม (Pf-Pf), ซิโนแวค-ไฟเซอร์ (SV-PF), แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ (AZ-Pf), ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า (SV-SV-AZ), ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ (SV-SV-Pf) และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มตามด้วยไฟเซอร์ (AZ-AZ-Pf) ผลการทดสอบพบว่า วัคซีนทุกสูตรจัดการกับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อเจอกับสายพันธุ์โอมิครอนกลับลดลงทุกสูตร สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานว่า การกลายพันธุ์ของโอมิครอนน่าจะหลบวัคซีนได้มาก ซึ่งหลายประเทศดำเนินการทดสอบก็ลักษณะใกล้เคียงกัน

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ทั้งนี้ หลักการของวัคซีนทั่ว ๆ ไปในอดีต ถ้าค่าภูมิคุ้มกันระดับอยู่ที่ 1 ต่อ 10 จะป้องกันโรคได้ แต่สำหรับโรคโควิดยังไม่มีค่าที่ออกมาแน่ชัด แต่เบื้องต้นผลทดสอบภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ฉีดวัคซีนสองเข็ม จะพบว่าภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับปริ่มของระดับ 1 ต่อ 10 ไม่ได้สูงมากนัก แม้กระทั่งไฟเซอร์ 2 เข็มยังอยู่ที่ 19.17 จึงป้องกันโอมิครอนได้ไม่มาก ส่วนกลุ่มฉีดสามเข็มพบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นไปสูงมาก

 

"เมื่อเทียบการจัดการกับเดลตาและโอมิครอนแล้ว ถือว่าการจัดการของภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนลดลงไปมาก อย่างซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ภูมิต่อเดลตาสูง 201.9 แต่โอมิครอนเหลือ 11.63 ถือว่าหายไป 17 เท่า บ่งบอกว่าสูตร 2 เข็มเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว จึงต้องฉีดเข็มกระตุ้นในคนที่ครบกำหนด" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สรุปจากการทดสอบของเรา วิธีที่เราทำคือการใช้ไวรัสตัวเป็น ๆ ทำในห้องปฏิบัติการความปลอดภัยระดับ 3 ด้วยวิธี PRNT พบว่าวัคซีนทุกสูตรการลบล้างฤทธิ์โอมิครอนลดลง แต่ถ้ากระตุ้นเข็มสามภูมิคุ้มกันจะขยับขึ้นไปสูงขึ้น แต่จะอยู่ได้นานแค่ไหนต้องติดตามดูต่อไป เช่น ผ่านไปแล้ว 2-3 เดือน ภูมิคุ้มกันลดลงไปหรือไม่ ลดไปเท่าไรแต่ต้องใช้เวลา ก็จะตรวจติดตามต่อไป

 

นพ.ศภกิจ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนสูตรไหนก็ลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้ทุกสายพันธุ์ ส่วนกรณีโอมิครอน กรมควบคุมโรคกำลังรวบรวมการติดเชื้อช่วงปัจจุบันอยู่ เพราะตอนเดลตาชัดเจนว่าวัคซีนช่วยลดความรุนแรง แต่ปัจจุบันต้องรอข้อมูล แต่หลักการทั่วไป วัคซีนเกือบทุกสูตรสามารถลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

 

"กลุ่ม 2 เข็มถือว่าปริ่ม ๆ แต่ใช้ได้อยู่ เพราะฉะนั้นการบูสเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาหลายแห่งทั่วโลก ว่าการบูสเตอร์โดสจะยกระดับภูมิคุ้มกันขึ้นไปมาก ลดการติดเชื้อ แพร่เชื้อ และลดเจ็บป่วยรุนแรงเสียชีวิตมากขึ้นอีก เพระาฉะนั้นขอเชิญชวนใครยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น ก็เปิดให้ลงทะเบียน ส่วนจะกระตุ้นด้วยตัวอะไร แอสตร้าฯ ไฟเซอร์ก็ใช้ได้ทั้งหมด ภูมิขึ้นมาสูงขึ้นมาสู้โอมิครอนได้ 2 เข็มเหมือนกันได้น้อยลง ก็ควรมาบูสต์เข็ม 3 ให้เร็วที่สุดตามที่กำหนด" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนอีกสูตรที่กำลังหาเลือดมาตรวจ คือ ฉีดสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าฯ แล้วตามด้วยแอสตร้าฯหรือไฟเซอร์ เพราะไม่มีเลือดเดิมอยู่ ก็จะหามาทดสอบว่าคนที่ฉีดสูตรไขว้แล้วตามด้วยเข็มสามด้วยแอสตร้าฯหรือไฟเซอร์ภูมิคุ้มกันเป็นอย่างไร ส่วนกรณีติดเชื้อโอมิครอนแล้วภุมิคุ้มกันหลังติดเชื้อจะช่วยจัดเดลตาด้วยหรือไม่อย่างไร กำลังทดสอบเพิ่มเติมเล็กน้อย ขอเวลาอีกจะมารายงานความก้าวหน้าต่อไป ส่วนกรณีผลการทดสอบนี้เป็นคนละวิธีกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้

 

สำหรับผลการทดสอบภูมิคุ้มกันของวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนมี ดังนี้

  • 1.สูตร SV-AZ ต่อเดลตาอยู่ที่ 201.9 ต่อโอมิครอนอยู่ที่ 11.63 หรือลดลง 17.35 เท่า
  • 2.สูตร AZ-AZ ต่อเดลตาอยู่ที่ 226.9 ต่อโอมิครอนอยู่ที่ 23.81 หรือลดลง 9.53 เท่า
  • 3.สูตร Pf-Pf ต่อเดลตาอยู่ที่ 189.4 ต่อโอมิครอนอยู่ที่ 19.17 หรือลดลง 9.88 เท่า
  • 4.สูตร SV-Pf ต่อเดลตาอยู่ที่ 581.1 ต่อโอมิครอนอยู่ที่ 21.70 หรือลดลง 26.77 เท่า
  • 5.สูตร AZ-Pf ต่อเดลตาอยู่ที่ 388.2 ต่อโอมิครอนอยู่ที่ 21.21 หรือลดลง 18.3 เท่า
  • 6.สูตร SV-SV-AZ ต่อเดลตาอยู่ที่ 368.1 ต่อโอมิครอนอยู่ที่ 71.64 หรือลดลง 5.14 เท่า
  • 7.สูตร SV-SV-Pf ต่อเดลตาอยู่ที่ 729.3 ต่อโอมิครอนอยู่ที่ 282.5 หรือลดลง 2.58 เท่า
  • 8.สูตร AZ-AZ-Pf ต่อเดลตาอยู่ที่ 691.1 ต่อโอมิครอนอยู่ที่ 222.9 หรือลดลง 3.1 เท่า

ด้าน ดร.สุภาพร กล่าวว่า การทดสอบระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศิริราช ทั้ง 2 วิธีมีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันไม่ได้ การทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เราใช้กับไวรัสจริง สิ่งหนึ่งที่เจอเพิ่มเติม คือ เมื่อแยกเชื้อจากตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทย แล้วไปเพิ่มจำนวนไวรัสให้ได้ปริมาณมากในเซลล์เพาะเลี้ยง

 

ดร.สุภาพร กล่าวต่อว่า ที่เราเจอและต่างจากสายพันธุ์อื่น คือ ไวรัสเพิ่มจำนวนได้ช้ามาก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ผ่านมา เป็นที่น่าแปลกใจว่า อาจเป็นตัวหนึ่งที่แสดงคุณลักษณะให้เห็นว่าเมื่อมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ คือ โอมิครอน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้แสดงอาการเท่าที่ควร ไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น ๆ อาจเป็นลักษณะของไวรัสเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อาการไม่รุนแรงในผู้ป่วยติดโอมิครอน

 

เมื่อถามถึงกรณีโอมิครอนเพิ่มจำนวนช้า จะมีผลต่อระยะเวลาการติดเชื้อหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปกติไวรัสที่มีปัญหามาก ๆ ก็น่าจะเพิ่มจำนวนได้เร็ว เพื่อทำอันตรายของร่างกาย แต่จากข้อสังเกตตรงนี้กรมฯ จะหารือกับแล็บอื่นๆ ว่า เจอแบบนี้หรือไม่ แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าการเพิ่มจำนวนช้าจะทำให้ติดเชื้อยาวกว่า หรือสั้นกว่าแต่อย่างไร

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า แต่การศึกษาชัดเจนว่า โอมิครอน มีผลต่อวัคซีนทุกสูตรทุกชนิด เพราะหลบวัคซีนได้มากกว่าเดลตา แต่ตัวเลขสะสมติดโอมิครอนเกือบหมื่นรายแล้ว แต่ผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งขณะนี้เรากำลังสุ่มเป็นสัดส่วนมากขึ้น โดยข้อมูลจากการสุ่มสำรวจสถานการณ์จริงของโอมิครอนในไทย เมื่อเทียบกับเดลตา มีลักษณะอย่างไร คาดว่า 1-2 วันจากนี้จะทราบผลชัดเจน

 

ถามถึงกรณีผู้เสียชีวิต 2 รายจากโอมิครอน มาจากไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จริง ๆ วัคซีนถึงได้รับ 2 เข็มก็ช่วยลดความรุนแรงได้ แต่การเกิดปัญหาใครป่วยหนักจนเสียชีวิตมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ซึ่ง 2 รายนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง ระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่ค่อยปกติ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมอีโอซี ได้มีการมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปสำรวจว่า ใครที่ติดโอมิครอน ซึ่งปัจจุบันมีเกือบ 1 หมื่นราย โดยเราจะใช้เลขบัตรประชาชนของแต่ละท่าน ส่งให้กรมการแพทย์เพื่อติดตามว่า มีกี่ราย อาการน้อย หายดี หรืออาการหนัก เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงของโอมิครอน

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนเรียกร้องไม่ฉีดวัคซีน แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า วัคซีนช่วยลดความรุนแรงได้จริง สถานการณ์โลกก็เช่นกัน ช่วยลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้ และเมื่อเป็นเข็ม 3 ก็ลดการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อได้ด้วย จึงต้องถามสังคมว่า เราอยู่ด้วยกันในสังคม หากจะปล่อยให้คนฉีดหรือไม่ฉีดตามใจชอบก็จะเป็นปัญหากับคนอื่นได้ แต่หากท่านอยู่คนเดียวก็ไม่เป็นไร จะฉีดหรือไม่สุดแล้วแต่

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า แต่หากต้องทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ในหลักการควบคุมโรค การใช้กติกาว่า จะร่วมกิจกรรมมีโอกาสแพร่เชื้อเยอะ ๆ หากติดกันมาก รอรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะโอกาสการกลายพันธุ์ยิ่งติดมากเท่าไหร่ ก็จะกลายพันธุ์ง่ายขึ้น เราไม่ประสงค์เห็นพันธุ์อื่น ๆ อีก จึงขอฝากให้มาฉีดวัคซีนกัน เพราะลดความรุนแรงได้จริง อย่างผู้ป่วยเสียชีวิตเริ่มลดลง ซึ่งมาจากการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง

 

ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และเป็นโรคประจำถิ่น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากข้อมูลเท่าที่ดูก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ไม่รุนแรง แต่ก็ต้องติดตามอีกสักระยะ สิ่งหนึ่งที่พบตรงกันในทีมวิชาการ คือ วัคซีนที่หวังจะฉีดปีละครั้งกรณีโควิด 19 ป้องกันไม่ได้นานขนาดนั้น ป้องกัน 1 ปีได้หรือไม่ก็ยังไม่ใช่ ยกเว้นว่าจะเป็นโรคประจำถิ่นก็อาจจะไม่ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบ่อย ๆ อาจปีละครั้ง แต่นั่นต้องเป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่ได้ป่วยมากขนาดนี้ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกยังป่วยมากอยู่

 

เมื่อถามว่าจะมีการศึกษาผลจากการฉีดวัคซีนครึ่งโดสหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทย์มีการติดตามเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันข้อแนะนำทางการไม่ได้มีว่า ให้ฉีดครึ่งโดส หรือแม้แต่การฉีดชั้นผิวหนัง ยกเว้นบางพื้นที่บางสถาบันจะเป็นเรื่องของการศึกษาวิจัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง