รีเซต

เปิดโปงเครือข่ายไทเกอร์ควีนส์ ลอบค้าเสือ ส่งจาก ลาว-ไทย จนร่ำรวย

เปิดโปงเครือข่ายไทเกอร์ควีนส์ ลอบค้าเสือ ส่งจาก ลาว-ไทย จนร่ำรวย
ข่าวสด
18 กุมภาพันธ์ 2564 ( 00:22 )
79
เปิดโปงเครือข่ายไทเกอร์ควีนส์ ลอบค้าเสือ ส่งจาก ลาว-ไทย จนร่ำรวย

เปิดโปงเครือข่ายไทเกอร์ควีนส์ - อินดีเพนเดนต์ รายงานเชิงสืบสวนสอบสวน พบเครือข่ายค้าสัตว์ป่า “ไทเกอร์ ควีนส์” ร่ำรวยจากการลักลอบค้าเสือในลาวและไทย โดยเพาะเลี้ยงขึ้นมาเพื่อทำเงินโดยเฉพาะ คล้ายกับเรื่องราวในซีรีส์สารคดีอาชญากรรมเรื่อง Tiger King (ไทเกอร์ คิง) ทางเน็ตฟลิกซ์

 

ความต้องการบริโภคเนื้อและอวัยวะเสือของจีนและเวียดนามเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรชนชั้นกลางที่มากขึ้น เพราะบางคนเชื่อว่ากินอวัยวะเสือแล้วจะทำให้พละกำลังแข็งแกร่งดั่งเสือและนิยมนำกระดูกหรืออวัยวะต่างๆ ของเสือมาปรุงเป็นยาแผนโบราณ

 

เสือที่ปรากฏในสารคดีซีรีส์ Tiger King ทางเน็ตฟลิกซ์

 

แหล่งส่งออกในลาวและไทยใช้ช่องโหว่ของกฎหมายส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคและยังใช้ของเลียนแบบที่นำเข้ามาจากแอฟริกาอีกด้วย

“ฟรีแลนด์” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทำงานเพื่อต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและองค์กรการกุศล “รณรงค์หยุดค้าสัตว์ป่า” เชื่อว่า “ไทเกอร์ ควีนส์” หรือ เหล่าราชินีเสือ เป็นเครือข่ายค้าเสือที่กระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โกยรายได้มหาศาลจากการค้าเสือ

 

เครือข่ายบางแห่งผสมพันธุ์เสือและโฆษณาว่าเป็น “สวนเสือ” หรือสวนสัตว์ อ้างเหตุผลด้านการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ แต่แท้จริงแล้วเพาะเสือเพื่อขายเสือและอวัยวะ ซึ่งอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายในลาวและการคอร์รัปชันแสวงหาประโยชน์จากสัตว์ป่าที่กำลังสูญพันธุ์

 

Tiger King: Murder, Mayhem and Madness

 

สตีฟ กัลสเตอร์ ผู้ก่อตั้งฟรีแลนด์ กล่าวว่าพ่อค้าคนกลางในลาวใช้ฟาร์มเสือเป็นช่องทาง “ตบตา” ทำให้ดูเหมือนว่าสัตว์ป่าที่ลักลอบข้ามพรมแดนมาจากไทยไปยังลาวเป็นสัตว์ที่เพาะเลี้ยงขึ้นเองในฟาร์มของลาวพร้อมทั้งเอกเอกสารกำกับ

 

นอกจากนี้ การเพาะสัตว์ป่ายังเป็นการลดการพึ่งพาชาวไทยที่จัดหาสัตว์ป่าในไทย

ฟรีแลนด์เปิดเผยว่าเมื่อปีที่แล้วฟาร์มเสือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งมีพรมแดนติดกับลาว มีเสือประมาณ 30 ตัวและส่งลูกเสือมีชีวิตและเสือโตเต็มวัยข้ามไปยังลาว อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ยังพบซากเสือ 6 ตัวและหัวเสือ 6 หัวในที่เกิดเหตุจากการตรวจสอบดีเอ็นดีของเสือที่มีชีวิตปรากฏว่าเสือ 3 ตัวมียีนที่ไม่ตรงกับเสือตัวอื่น แสดงว่าเสืออาจถูกจับมาจากที่อื่น

ส่วนในลาว พบว่าบริษัทแห่งหนึ่งมีความเกี่ยวพันกับฟาร์มเสือและฟาร์มลิง โดยเจ้าของกิจการมีศักดิ์เป็นลูกสะใภ้ของอธิบดีกรมศุลกากร สปป.ลาว

 

สวนเพาะเสือในลาว / EIA

 

แม้ว่าทั้งลาวและไทยมีกฎหมายที่ผูกพันกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส แต่ยังมีช่องโหว่อยู่

 

องค์กรตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม - Environmental Investigation Agency หรือ EIA รายงานเมื่อปี 2561 ว่าใบอนุญาตให้เพาะและขนส่งเสือทำได้ง่ายมากและไม่มีกฎระเบียบป้องกันไม่ให้มีสินค้าที่มีส่วนประกอบจากเสือวางขายในตลาด

 

ส่วนช่องโหว่ที่เป็นทำเลทอง คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ริมแม่น้ำโขง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับจ.เชียงรายของไทย พื้นที่นี้เป็นของลาวก็จริง แต่ปล่อยให้บริษัท คิงส์ โรมัน กรุ๊ป ที่จดทะเบียนในฮ่องกงทำสัญญาเช่า 99 ปี

 

ฟาร์มที่จังหวัดบ่อแก้ว / Environmental Investigation Agency

 

ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา คว่ำบาตรบริษัทนี้เพราะเกี่ยวข้องกับกิจการผิดกฎหมาย รวมทั้ง ลักลอบขนส่งยาเสพติด มนุษย์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ พร้อมทั้งระบุว่า จ้าว เว่ย มหาเศรษฐีคุมพื้นที่นี้ ส่วน ซู กุ้ยชิน ภรรยา ฉายา “ราชินีเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ” ได้ประโยชน์ทำกำไรมหาศาลจากการลักลอบค้าสัตว์ป่า รวมทั้ง หมีดำ ตัวนิ่ม เสือ แรดและช้าง

เด็บบี แบงก์ จากอีไอเอกล่าวว่าในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำหาซื้อผลิตภัณฑ์จากเสือได้ง่ายมาก รวมทั้ง ไวน์กระดูกเสือซึ่งชาวเวียดนามนิยมบริโภค

 

เสือในฟาร์มที่สปป.ลาว แฟ้มภาพปี 2558 / Environmental Investigation Agency

 

เนื่องจากชาวเวียดนามนิยมบริโภคไวน์กระดูกเสือ วิไซ แก้วสว่าง ชาวลาว หาทางรวยจากธุรกิจนำเข้ากระดูกสิงโตจากแอฟริกาซึ่งราคาต่ำกว่ากระดูกเสือ 25 เท่า นำมาดองไวน์แล้วหลอกว่าเป็นไวน์กระดูกเสือ แต่นายวิไซหลบหนีไป หลังจากถูกเปิดโปงความจริง

เด็บบี แบงก์ จากอีไอเอ กล่าวเพิ่มเติมว่าหากไม่ได้ตรวจดีเอ็นเอ ผู้บริโภคจะไม่มีทางทราบความแตกต่างระหว่างกระดูกเสือกับกระดูกสิงโต ยิ่งในช่วงการระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันไปสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์แทบทั้งหมด

//////////////

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โควิด-19 : เหตุใดการห้ามค้าเนื้อสัตว์ป่าของจีน อาจไม่ช่วงคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าได้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง