ตลาดเงินระอุรับปี 2564 นักวิเคราะห์คาดไตรมาสแรก บาทแข็งค่าเฉลี่ย 29.30 บาทต่อดอลลาร์
แนวโน้มค่าเงินบาท คาดไตรมาสแรก บาทแข็งค่าเฉลี่ย 29.30 บาทต่อดอลลาร์
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 18 ธันวาคม อยู่ที่ 29.79 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 29.84 บาทต่อดอลลาร์
กรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.75-29.95 บาทต่อดอลลาร์
โดยตลาดการเงินในช่วงคืนที่ผ่านมายังคงสดใส ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.6% ซึ่งถือเป็นการปิดตัวบวกติดกันเป็นวันที่สามด้วยความหวังว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะผ่านสภาในไม่ช้า และตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงนี้หนุนให้สินทรัพย์การเงินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป น้ำมันดิบ WTI ไปจนถึงราคาทองคำ ปรับตัวสูงขึ้น 0.3-1.3% พร้อมกันทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ฝั่งนโยบายและเศรษฐกิจกลับไม่สดใสเหมือนตลาดการเงิน ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (Initial Jobless Claims) ปรับตัวขึ้นมาที่ 8.85 แสนตำแหน่ง สูงที่สุดในรอบสามเดือน เช่นเดียวกับเรื่อง Brexit ที่นางอัวร์ซูลา แกร์ทรูท ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ส่งสัญญาณเตือนว่าข้อตกลงระหว่าง UK และ EU เกิดขึ้นได้ยากเพราะทั้งสองฝั่งมีความต้องการที่แตกต่างกันอยู่
ซึ่งทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด ไปจนถึงนโยบายการต่างประเทศที่ไม่มีข้อสรุปเป็นความจริงที่ต้องจับตาต่อในระยะสั้น
ด้านตลาดเงินก็เป็นการเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) เต็มตัว บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีกลับขึ้นมา 2bps ที่ 0.94% และส่วนต่างระหว่างยีลด์ห้าปีและสามสิบปีขยับขึ้นไปที่ 1.29% และเงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลง 0.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
ประเด็นดังกล่าว คือ ปัจจัยหลังที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าลงตามในช่วงนี้นอกเหนือจากความกังวลเรื่องที่ไทยถูกสหรัฐจับตาเรื่องการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยเราเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศเข้ามากดดันพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองค่าเงินบาทสิ้นไตรมาสแรกปี 2021 ที่ระดับ 29.30 บาทต่อดอลลาร์ไว้ก่อน และเชื่อว่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้ เกิดจากความคาดหวังมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ระยะสั้นจึงสามารถอ่อนค่าได้เมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดการเงินทั่วโลกกลับเข้าสู่โลกความจริง