อนามัยโลก-G20 เตือนภัย 'การดื้อยาต้านจุลชีพ' ซุ่มระบาดเงียบ
บาหลี, 25 ส.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพุธ (24 ส.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งเข้าร่วมการประชุมคู่ขนานการประชุมคณะทำงานทางสุขภาพ G20 ครั้งที่ 3 ในจังหวัดบาหลีของอินโดนีเซีย กล่าวเตือนความเสี่ยง "การระบาดเงียบ" ของการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) ซึ่งมีต้นตอจากการใช้ยาและยาปฏิชีวนะเกินขนาดดันเต ฮาร์บูโวโน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย กล่าวว่าการคิดค้นยาต้านจุลชีพเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคช่วยให้ผู้คนหลายล้านไม่เจ็บป่วยล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิดหรือปราศจากคำสั่งของแพทย์ในมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อมอนึ่ง วารสารแลนเซต ฉบับเดือนมกราคม ระบุว่าภาวะดื้อยาคร่าชีวิตผู้คนมากถึง 1.27 ล้านรายในปี 2019 ซึ่งมากกว่าเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ (864,000 ราย) หรือมาลาเรีย (643,000 ราย)"การดื้อยาต้านจุลชีพไม่เพียงส่งผลกระทบเชิงลบทางสุขภาพ แต่ยังส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารด้วย" ฮาร์บูโวโนกล่าวฮานาน บัลคี ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพขององค์การฯ ระบุว่ามี 148 ประเทศที่พัฒนาแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพระดับชาติ แต่มีแค่ร้อยละ 20 ที่จัดสรรงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายสนับสนุน ทำให้การรับมือระดับประเทศกระท่อนกระแท่นไร้การจัดลำดับความสำคัญที่สมเหตุสมผลบัลคีเสริมว่าแต่ละประเทศมีศักยภาพรับมือความท้าทายนี้ต่างกันในแง่เศรษฐกิจ ความรู้ การวินิจฉัยโรค และการลงทุน ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จต้องอาศัยการก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเร็วขึ้นของทุกประเทศและทุกภาคส่วน โดยระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและรับประกันว่ายาต้านจุลชีพจะยังคงมีประสิทธิภาพสำหรับคนรุ่นต่อไป