ฮ่องกงใช้ AI พิมพ์ "กระดูก 3 มิติ" จากภาพ X-ray ลดผู้ป่วยรับรังสีได้ 99%

ทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (HKUST) ได้ประกาศความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งสามารถสร้างโครงสร้างกระดูกแบบ 3 มิติ ของผู้ป่วยขึ้นมาใหม่ได้ โดยใช้ภาพ X-ray เพียง 2-4 ภาพเท่านั้น ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการสแกน CT และลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับได้มากถึงร้อยละ 99
การพัฒนา AI เพื่อการสร้างแบบจำลองกระดูก
ทีมนักวิจัยเผยว่าเทคโนโลยีนี้ใช้เวลาเพียง 30 วินาที ในการสร้างแบบจำลองกระดูก 3 มิติ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการแปลงภาพ X-ray มาตรฐาน ให้เป็นภาพกระดูกและอวัยวะแบบ 3 มิติ ด้วยวิธีนี้ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นภาพกระดูกของผู้ป่วยแบบสามมิติที่ละเอียดบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ และช่วยให้การวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาแม่นยำยิ่งขึ้น
ไม่ใช่แค่ภาพ แต่ "พิมพ์" แบบจำลองกระดูก 3D ได้ด้วย
นอกจากความสามารถในการสร้างภาพ 3 มิติแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังก้าวไปอีกขั้นด้วยการใช้แบบจำลองดิจิทัลเหล่านั้น มาสร้างเป็นชิ้นส่วนที่จับต้องได้จริง ผ่านการพิมพ์ 3 มิติ โดยสามารถผลิตอุปกรณ์ฝังในที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ (Custom Implants) เพื่อให้เข้ากับกายวิภาคของผู้ป่วยแต่ละรายได้
ทีมวิจัยกล่าวว่า แบบจำลองที่สร้างขึ้นใหม่นี้ มีอัตราความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร และเทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำสูง เมื่อเทียบกับการสแกน CT แบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความแม่นยำทางคลินิก
ทีมพัฒนาเผยว่าทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมกระดูกจะต้องผ่านการสแกน CT ที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีในปริมาณสูง แต่ด้วยแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วย AI นี้ ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระของโรงพยาบาลรัฐ โดยลดระยะเวลารอคอยสำหรับการสแกน CT
โดยทีมวิจัยคาดว่าเทคโนโลยีนี้ จะสามารถเริ่มการทดลองทางคลินิกในโรงพยาบาลรัฐของฮ่องกงได้ ภายในสิ้นปีนี้
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
