เร่งคัดกรองสายตาเด็กไทยปี65 ตั้งเป้าช่วยให้มีแว่นใส่
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย มีเด็กไทยทั่วประเทศกว่า 7 แสนคน จำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองสายตา โดยตั้งเป้าในปี 2565 ขยายผลให้เด็กนักเรียนได้รับแว่นสายตาอย่างทั่วถึงทุกจังหวัดภายใต้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแว่นสายตาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย รับโล่ผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่ราชวิทยาลัย จักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในงานประชุมวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 46 ประจำปี 2564 ณ True Icon Hall ชั้น 7 Icon Siam กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 พร้อมกล่าวว่า ปัญหาเด็กไทยสายตาผิดปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลต่อการเรียนรู้และสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมา กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายในการสนับสนุน และขับเคลื่อนโครงการให้เด็กนักเรียนเข้าถึงบริการสุขภาพสายตา ตามสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง รวมถึงการติดตามประเมินผล
แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้นักเรียน ได้รับการคัดกรองสายตา 233,000 คน หรือเพียงร้อยละ 32 ได้รับแว่นสายตา จำนวน 2,608 คน ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กว่า 700,000 คน จะได้รับการคัดกรองสายตาและรับแว่นสายตา เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนมีการมองเห็นได้ดีและมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น โดยในปี 2565 นี้ กรมอนามัยมุ่งหวังขยายผลให้เด็กนักเรียนได้รับแว่นสายตาอย่างทั่วถึงทุกจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแว่นสายตาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) โดยร่วมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติเดือนมกราคมที่จะถึงนี้
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยสายตาดี เป็นข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และห้างแว่นท็อปเจริญ ในปีที่ผ่านมามีการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการเฝ้าระวังสุขภาพสายตานักเรียนตามแนววิถีชีวิตใหม่ โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมอนามัย และโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรมและตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในการส่งตัดแว่นสายตา ในปีนี้จะมีการขยายผลอบรมบุคลากรสาธารณสุขทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่อบรมครูประจำชั้นให้มีความรู้ ความสามารถในการตรวจคัดกรองสายตาเบื้องต้น ในงานอนามัยโรงเรียน รวมถึงดำเนินการคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคนในโรงเรียนทุกสังกัด ตลอดจนนักเรียนชั้นอื่นกรณีสายตาผิดปกติ สามารถรับการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และรับแว่นสายตาได้ด้วย
“ทั้งนี้ วิธีการสังเกตความผิดปกติของสายตาเด็ก ทำได้ดังนี้ 1) ช่วงแรกเกิด – 6 เดือน มีอาการตาดำสั่น ไม่นิ่ง ไม่จ้อง หรือมองตามเห็นสีขาวขุ่นในตาดำ 2) ช่วงอายุ 1 – 3 ปี ลูกมีตาดำเขเข้าในหัวตาเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะเวลาดูอะไรใกล้ ๆ อาจมีอาการเอียงหน้าหรือเอียงคอมอง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหากล้ามเนื้อตา หากปล่อยไว้นานเกินไปอาจมีปัญหาเรื่องการมองเห็น คือ มีสายตามัว หรือภาวะตาขี้เกียจ และ 3) ช่วงอายุ 3 - 5 ปี ลูกมักดูหนังสือหรือดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ และมีอาการปวดศีรษะในตอนเย็นหรือหลังเลิกเรียน มองกระดานไม่ชัด อาจเกิดจากปัญหาสายตาผิดปกติ มีตาดำเขเข้าหรือเขออกเป็นครั้งคราว เวลาเด็กเผลอตัว เวลาดูทีวี ที่อาจเกิดจากปัญหากล้ามเนื้อตา ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง สังเกตเห็นความผิดปกติ ต้องรีบพาไปพบจักษุแพทย์ทันที เพื่อลดความเสี่ยงสายตาผิดปกติเมื่อโตขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา กรมอนามัย
ติดตาม TNN Health ได้ที่นี่ FB https://www.facebook.com/TNNHealth