"คลัง"สั่ง"ธ.ก.ส."ศึกษาตั้ง "AMC" แก้หนี้เสีย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า
ได้สั่งให้ธ.ก.ส. เข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ผู้สูงอายุ ผ่านการศึกษาจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในรูปแบบบริษัทลูกของธ.ก.ส.เอง แล้วให้นำรายละเอียดกลับมาเสนอบอร์ดอีกครั้งภายใน 1 เดือน
ทั้งนี้ ลูกค้าธ.ก.ส.จำนวนมาก ที่เริ่มอายุมากขึ้น และไม่ได้ทำการเกษตรแล้ว แต่มีภาระหนี้สิน จากข้อมูลพบว่า ธ.ก.ส.มีลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุเกือบ 100,000 บัญชี โดยในตัวแบงก์เองนั้น แฮร์คัทหนี้เสียได้ยาก จึงจะต้องใช้แนวทาง AMC เข้ามาช่วย
ส่วนแนวทางการจัดตั้ง AMC จะไปรอดหรือไม่ เนื่องจากลูกหนี้เป็นกลุ่มสูงอายุแล้ว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การศึกษาจัดตั้ง AMC ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ดีกว่าการส่งมอบหนี้สินให้กับทายาท และลูกหลาน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการแก้ไขหนี้เสียของกลุ่มดังกล่าวนั้น มีความยาก เนื่องจากส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน และใช้รูปแบบรวมกลุ่มกันค้ำประกันกลุ่ม
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากดูแลลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวได้ จะช่วยลดสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้อย่างแน่นอน ซึ่ง ณ สิ้นปีบัญชี 2567 (เม.ย.67-มี.ค.68) NPL ธ.ก.ส.อยู่ที่ร้อยละ 5.8
สำหรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอให้ธ.ก.ส. ปรับพอร์ตลูกหนี้ เพราะลูกหนี้ธ.ก.ส.ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตาม อยากให้ธปท. เข้าใจว่า กลุ่มลูกค้าของธ.ก.ส. เป็นเกษตรกรที่มีความอ่อนแอที่สุด
หากแข็งแรงก็สามารถไปขอสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ยอมรับว่า ลูกหนี้ ธ.ก.ส. จะมีปัญหาเรื่อง NPL และศักยภาพในการชำระหนี้
ซึ่งเป็นโจทย์ให้ ธ.ก.ส. ปรับพอร์ตเลือกกลุ่มที่แข็งแรงกว่าเข้ามาสร้างความสมดุลในพอร์ต ด้วย ดังนั้น ในปีบัญชี 2568 (เม.ย.68-มี.ค.69) จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. ได้ขอความร่วมมือจากตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากขึ้น เพื่อให้มีส่วนร่วมในคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนในบางมิติ