ใกล้เสร็จทางคู่ขนานสะพานพระราม 9 แก้ปัญหาจราจร ชม. เร่งด่วน
เจ้าหน้าที่ได้พาคณะสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้า โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 –
ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งเป็นโครงการทางพิเศษที่อยู่ในแผนแม่บททางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นโครงข่าย ทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
รวมถึงการเดินทางจากจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อช่วยให้การเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดในปัจจุบันบนถนนพระรามที่ 2
โดยเมื่อสะพานแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว จะสามารถช่วยระบายการจราจรที่ติดขัดสะสม เนื่องจากกพท. ได้ออกแบบสะพานคู่ขนานที่มีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 ที่ยกระดับจากพื้นดิน แต่สะพานที่กำลังก่อสร้างใหม่จะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวิ่งขึ้น-ลงสะพานได้สะดวก ไม่เกิดการชะลอตัว ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดจราจรติดขัดในช่วงขาขึ้นสะพาน
สะพานคู่ขนานแห่งใหม่นี้ มีการออกแบบเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีแนวคิดในการออกแบบให้สื่อถึงพระองค์ท่าน
ส่วนยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์แสดงถึงความโอบอุ้ม ปกป้อง ให้ความรักความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทย
สายเคเบิลสีเหลืองสื่อถึงวันพระราชสมภพ คือวันจันทร์ พญานาค สื่อถึงราศีประจำปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รั้วสะพานกันกระโดดออกแบบสื่อให้เป็นต้นรวงผึ้งต้นไม้ประจำพระองค์ รูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบงานไทยประเพณีเพื่อสื่อถึงคติความเชื่อและสัญลักษณ์ในการเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์กับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เน้นให้เห็นถึงความงดงามด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ของการก่อสร้างทางวิศวกรรม
เมื่อสะพานแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญและสวยงามของกรุงเทพมหานคร ที่ได้ผสมผสานความเป็นไทยอย่างลงตัว ทั้งลวดลายพญานาค และการตกแต่งไฟ ทั้ง 5 สี ที่มีความหมายแตกต่างกันออกไปดังนี้ สีเหลืองทอง แสดงถึง การตั้งมั่นในศีล การตั้งมั่นในธรรม / สีขาว แสดงถึงความมีตบะ / สีฟ้า แสดงถึงความอ่อนโยน / สีชมพูแสดงถึงการให้ การบริจาค และสีส้ม แสดงถึงความซื่อตรง ความไม่เบียดเบียน
การเปิดให้บริการคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้บางส่วนในเดือนมีนาคม 2567 ทั้งนี้ กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการขอพระราชทานชื่อสะพานดังกล่าว
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์