กล้องดิจิทัลใหญ่ที่สุดในโลก ส่องเห็นแม้ฝุ่นดวงจันทร์ ประกอบร่างสำเร็จ !
หลังจากดำเนินการก่อสร้างมาร่วมสองทศวรรษ ในที่สุดกล้องดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ของศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์แห่งชาติสแลก (SLAC - National Accelerator Laboratory) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ก็ได้ประกอบร่างเสร็จสิ้น พร้อมส่งไปใช้ถ่ายภาพจักรวาลแล้ว
กล้องดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ ความจริงแล้วคือกล้องโทรทรรศน์สำรวจภาพรวมขนาดใหญ่ หรือ Large Synoptic Survey Telescope ที่ได้ชื่อว่า เวรา ซี. รูบิน แอลเอสเอสที (Vera C. Rubin LSST) โดยถูกตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ เวรา ซี. รูบิน ผู้ที่นิยามคำว่า “สสารมืด” หรือ “Dark Matter”
ตัวกล้องเป็นกล้องแบบดิจิทัลขนาดเท่ากับรถยนต์คันเล็ก หนักราว 3 ตัน โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 1.57 เมตร ยาว 3.73 เมตร ภายในมีเซนเซอร์แบบ CCD ขนาด 16 มิลลิเมตร จำนวน 189 ตัว ทำหน้าที่รับแสงและเปลี่ยนค่าแสงเป็นสัญญาณอนาล็อก เพื่อแปลงกลับไปเป็นสัญญาณดิจิทัล และสามารถถ่ายภาพความละเอียดสูงถึง 3,200 เมกะพิกเซล (Megapixel)
ความละเอียดสูงที่ว่านี้ หากเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือมันสามารถจับภาพของลูกกอล์ฟ ที่วางอยู่ห่างออกไปถึง 15 ไมล์ หรือราว 24 กิโลเมตรได้ และภายในยังมีระบบการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง ที่สามารถเก็บช่วงแสงได้เกือบทุกช่วง ช่วยให้ภาพที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้าได้ดีขึ้น
โดยปัจจุบัน ทีมวิศวกรได้ประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดของกล้องเรียบร้อยแล้ว และเตรียมส่งไปติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์ในชิลี เพื่อช่วยถ่ายภาพของท้องฟ้า และช่วยนักวิทยาศาสตร์คลี่คลายความลับของจักรวาล เช่น เรื่องของสสารมืด หรือสสารลึกลับที่คิดเป็นร้อยละ 85 ของสสารในจักรวาล
และนอกจากการใช้กล้องดิจิทัลขนาดใหญ่นี้ จะช่วยเปิดทางให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถเข้าใจองค์ประกอบของจักรวาลได้ดีขึ้นแล้ว ความไวของกล้อง จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ภาพแผนที่ทางช้างเผือกที่มีรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างและวิวัฒนาการของมัน เช่นเดียวกันกับธรรมชาติของดาวฤกษ์และวัตถุอื่น ๆ ที่อยู่ภายในได้ดีขึ้นด้วย
ข้อมูลจาก newatlas, slac.stanford.edu, tnnthailand, interestingengineering