เงินเฟ้อสหรัฐฯ-ดบ.FED ยังสูง หุ้นส่งออกรับผลดี ค่าบาทอ่อน
#CPI #ทันหุ้น – สหรัฐฯรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% YoY ในเดือน ก.พ.67 สูงกว่าที่รายงาน 3.1% YoY ในเดือน ม.ค.67 และสูงกว่าที่ตลาดคาด
บล.กสิกรไทยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯค่อนข้างหนืด โดยแกว่งตัวอยู่ที่ราว 3% มา 9 เดือนติดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชนิด Super core ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 2 เดือนติด
บล.กสิกรไทยเชื่อว่าบริษัทที่เน้นส่งออกโดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และสินค้าเกษตรจะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ฯ ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ย Fed ที่ยังอยู่ระดับสูง
Key Highlights
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือน ก.พ.2567
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในเดือนก.พ.2567เพิ่มขึ้น 0.4% MoM และ 3.2% YoY ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้และมากกว่าในเดือน ม.ค. ที่รายงานเพิ่มขึ้น 3.1% YoY โมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในเชิง MoM มีสาเหตุมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นในเชิง YoY มีสาเหตุจากราคาพลังงานที่ลดลงในอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงต่อ แต่ในอัตราที่ช้ากว่าที่ตลาดคาดหวัง
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.4% MoM และ 3.8% YoY ในเดือนก.พ.2567 ซึ่งปรับตัวลดลงจากที่รายงาน 3.9% ในเดือนม.ค. แต่ยังคงสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.7% YOY โดยสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโมเมนตัมปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัยเช่น ค่าเช่า กอปรกับค่าบริการด้านขนส่งเดินทางปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไร ก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อภาคบริการโดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงหากพิจารณาตัวเลขในเชิง YoY
แนวโน้มเงินเฟ้อทรงตัวมากกว่าเป้า และดูเริ่มยากที่จะปรับลดลงจากตรงนี้
ตัวเลขจากรายงานแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวและยากที่จะปรับลดลง หลังจากเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่แกว่งตัวอยู่ที่ราว 3% มา 9 เดือนติดต่อกันแล้ว นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของภาคบริการที่ไม่รวมกลุ่มที่อยู่อาศัยยังปรับเพิ่มขึ้นมา 2 เดือนติดต่อกัน
Implication and Recommendation
ตลาดทำใจแล้วระดับหนึ่งก่อนข้อมูลเงินเฟ้อออก
บล.กสิกรไทยมองว่าตลาดควรจะตอบรับเชิงลบต่อรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมา(12 มี.ค.) แต่เนื่องด้วยเป็นเพราะเงินเฟ้อมากกว่าที่ตลาดคาดไม่มากตลาดจึงอาจเลือกที่จะมองข้าม โดยเฉพาะอีกทั้งตลาดเองก็ได้มีการปรับความคาดหวังมาแล้วระดับหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาจากเดิมที่หวังเห็น Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกเร็วตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. เปลี่ยนเป็นรอบ พ.ค. และล่าสุดมองเลื่อนออกไปเป็นในช่วงเดือน มิ.ย. 2567 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าตลาดเริ่มยอมรับความจริงไปแล้วในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาก็มาจากราคาพลังงานซึ่งผันผวนและอาจสามารถปรับตัวลดลงได้ในระยะข้างหน้า ขณะที่แนวโน้มหลักซึ่งพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังลดลงต่อขณะเดียวกัน การประชุม FOMC รอบต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 มี.ค.2567ตลาดคาดหวังว่าจะเห็นแผนการทำ QT tapering ซึ่งอาจช่วยหนุน sentimentตลาดให้ยังคงเป็นบวกได้
คาด Fed เริ่มลดดอกเบี้ยกลางปีนี้ แต่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อ
แม้เราคาดว่า Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ แต่เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะยังอยู่ในระดับสูงต่อเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและอาจกลายเป็นสถานการณ์ใหม่ (new norm) ทั้งนี้ เพราะเรามองเงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับสูงจากสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่งในสหรัฐฯ จากกลุ่มเทคโนโลยี กอปรกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังลดการพึ่งพาจีนลง