รีเซต

ห้องเรียนปลอดฝุ่น "กทม." มั่นใจขยายครบ 437 โรงเรียนภายในปี 67

ห้องเรียนปลอดฝุ่น "กทม." มั่นใจขยายครบ 437 โรงเรียนภายในปี 67
TNN ช่อง16
20 มีนาคม 2567 ( 14:32 )
41
ห้องเรียนปลอดฝุ่น "กทม." มั่นใจขยายครบ 437 โรงเรียนภายในปี 67

วันนี้ (20 มี.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ของห้องเรียนสู้ฝุ่นที่กรุงเทพมหานครร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ThaiPBS กรมอนามัย เนื่องจากห้องเรียนปลอดฝุ่นเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากเรายังแก้ปัญหาจากต้นตอสาเหตุฝุ่น ไม่ได้ 100% และเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด ถ้าฝุ่นเข้าไปในร่างกายแล้วจะสร้างผลกระทบในระยะยาว รวมถึงการปลูกฝังการแก้ปัญหาฝุ่นก็จะทำให้แก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ 


โดยในปีแรก กทม.มีห้องเรียนปลอดฝุ่น ประมาณ 32 ห้องเรียน ปัจจุบันขยายเป็น 437 ห้องเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เด็กมีสถานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ค่าฝุ่นPM2.5 สูง รวมถึง กทม. จะขยายห้องเรียนปลอดฝุ่นไปยังศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนอีกด้วย


 " ห้องเรียนปลอดฝุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องของกายภาพที่ทำให้ห้องป้องกันฝุ่นเข้ามาได้ แต่ยังเป็นเรื่องของการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก ให้นักเรียนตระหนักรู้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างละเอียด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นจากต้นต่อสาเหตุฝุ่นได้อย่างยั่งยืน" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงห้องเรียนปลอดฝุ่น


 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่นในปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐมีหลายมาตรการในการแก้ปัญหา อาทิ รัฐบาลมีมาตรการเปลี่ยนมาตรฐานเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลให้เป็น มาตรฐาน Euro 5 ส่วนกทม.เองมีนโยบายเชิญชวนเปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถยนต์ในโครงการ รถคันนี้#ลดฝุ่น ซึ่งมีรถเข้าร่วมโครงการกว่า 280,000 คัน รวมถึงมาตรการใช้รถอัดฟาง 3 เครื่องเพื่อแก้ปัญหาการเผาฟางของเกษตรกรในย่านกรุงเทพตะวันออก แต่ก็ยังมีปัจจัยภายนอกที่กทม.ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาพภูมิอากาศ การเผาชีวมวลนอกพื้นที่กรุงเทพฯ และจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น


สำหรับโครงการยกระดับองค์ความรู้สําหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึง ปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ หรือ ห้องเรียนสู้ฝุ่น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยครั้งนี้เป็นการดําเนินการใน ระยะที่ 2 ซึ่งระยะที่ 1 ได้ดําเนินการสร้างต้นแบบไปแล้ว จํานวน 32 โรงเรียน โดยระยะที่ 2 นี้จะเป็นการดําเนินการห้องเรียนสู้ฝุ่นให้ครบคลุมทั้งสิ้น จํานวน 437 โรงเรียน 


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเมืองต้นแบบการรับมือกับฝุ่น PM2.5 ผ่านองค์ความรู้และข้อมูลวิทยาศาสตร์ โดยมีระบบข้อมูลองค์ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 และชุดกิจกรรมเสริมหลักสูตร สําหรับใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ด้วยตนเอง และสามารถสื่อสารเรื่องภัยฝุ่น PM2.5 ส่งต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคมต่อไป


ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า PM2.5 สามารถสะสมในถุงลมฝอยของปอด สามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งได้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของประชากรโลกในปี 2558 นอกจากนี้ปี 2559 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจาก มลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน โดยเกิดจากมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร (Ambient Air) 4.2 ล้านคน และร้อยละ 91 เกิดในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก สําหรับในประเทศไทยมีการรายงานความเชื่อมโยงการได้รับสัมผัส PM2.5 และผลกระทบต่อการตายก่อนวัยอันควร โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ


พิธีเปิดตัวโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 ในวันนี้มีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร (Chief. Sustainability Officer : CSO)  ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผศ.ดร. นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้แทนหน่วยงาน ภาคีเครือข่าย ผู้อํานวยโรงเรียน เข้าร่วมพิธี


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง