รีเซต

น่าทึ่งหรือน่ากลัว ? ฝังโซลาร์เซลล์จิ๋วในดวงตา ช่วยรักษาโรคประสาทตาเสื่อม

น่าทึ่งหรือน่ากลัว ? ฝังโซลาร์เซลล์จิ๋วในดวงตา ช่วยรักษาโรคประสาทตาเสื่อม
TNN ช่อง16
22 มีนาคม 2567 ( 13:38 )
27
น่าทึ่งหรือน่ากลัว ? ฝังโซลาร์เซลล์จิ๋วในดวงตา ช่วยรักษาโรคประสาทตาเสื่อม

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิส เซาธ์ เวลส์ (University of New South Wales: UNSW) ประเทศออสเตรเลีย ผุดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีประสาทเทียม (Neuroprosthetic technology) สำหรับดวงตา ด้วยการฝังแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กในลูกตา หากสำเร็จมันจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคประสาทตาเสื่อม ที่ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด


โรคจอประสาทตาเสื่อม (Retinitis pigmentosa: RP) เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมทางตาที่ทำให้ตัวรับแสงค่อย ๆ เสียหายจนนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นในที่สุด มักจะเกิดในผู้สูงอายุ (Age-related Macular Degeneration: AMD) ที่ส่งผลให้ไม่สามารถมองเห็นตรงกลางได้ชัดเจน (Central visual loss) 


โครงการนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยอุปกรณ์ประสาทเทียมสำหรับติดตั้งในดวงตาที่จะสามารถฟื้นฟูการมองเห็นในผู้ที่ประสบปัญหาตัวรับแสง (Photoreceptor) เสียหาย โดยปกติแล้วเมื่อแสงตกกระทบไปที่เรตินา (Retina) หรือจอประสาทตาในดวงตาของมนุษย์ ตัวรับแสงซึ่งเป็นเซลล์พิเศษภายในดวงตาจะทำหน้าที่ดูดซับแสงและแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ก่อนจะส่งไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็น 


ปัจจุบัน อุปกรณ์ที่ว่ายังมีข้อจำกัดในส่วนของแหล่งพลังงานที่จำเป็นต้องมีสายไฟระโยงระยางบริเวณดวงตา ซึ่งนอกจากจะยากต่อการติดตั้งแล้ว ยังสร้างความลำบากให้กับผู้ป่วย จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการนี้ไปอีกขั้นด้วยการนำโซลาร์เซลล์มาซ้อนกัน เพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ 


โซลาร์เซลล์ที่ใช้ในงานวิจัยนี้ เป็นโซลาร์เซลล์ซิลิกอน ซึ่งจะให้แรงดันไฟฟ้ามากพอในการกระตุ้นประสาทตาไปยังสมอง อีกทั้งยังช่วยประหยัดพื้นที่ของเครื่องมือในการติดตั้งบริเวณดวงตาได้ด้วย 


โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์แนวคิด ขั้นตอนต่อไปคือ การพัฒนาประสาทตาเทียมที่มีโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้คนมองเห็นได้อย่างแม่นยำ  ปัจจุบันสามารถสร้างโซลาร์เซลล์ซ้อนกันจำนวน 2 ชิ้นได้ที่มีขนาดประมาณ 1 ตารางเซนติเมตร และคาดว่า หลังจากทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลอง จะสามารถลดขนาดให้อยู่ที่ 2 ตารางมิลลิเมตร และพร้อมทดสอบกับมนุษย์ได้ในเวลาต่อไป


แน่นอนว่าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จในการสร้างประสาทตาเทียมที่ทำงานได้ด้วยตัวเองจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สายไฟเชื่อมต่อ จะเป็นการปฏิวัติองค์การแพทย์ด้านโรคทางตาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคตาที่ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาได้อย่างมาก


อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าอุปกรณ์จะทํางานก็ต่อเมื่อมีแสงเลเซอร์ส่องเข้ามาเท่านั้น และผู้ที่ได้รับการติดตั้งเครื่องมืออาจจะเห็นภาพแบบขาวดําที่มีความละเอียดค่อนข้างต่ำ ผู้คนอาจต้องสวมอุปกรณ์เสริมอย่างแว่นตาอัจฉริยะที่ทํางานควบคู่กับโซลาร์เซลล์ เพื่อทำให้แสงจากดวงอาทิตย์มีความเข้มข้นที่เพียงพอในการกระตุ้นเซลล์ประสาทในดวงตาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่าโครงการนี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต


ที่มาข้อมูล newatlas  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง