รีเซต

วิธีอุดรอยรั่ว ไม่ให้เงินรั่วไหล

วิธีอุดรอยรั่ว ไม่ให้เงินรั่วไหล
NewsReporter
22 มีนาคม 2565 ( 12:26 )
216

เบนจามิน แฟรงคลิน เคยกล่าวไว้ว่า "Beware of little expenses. A small leak will sink a great ship." หรือ “จงระวังสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพราะรอยรั่วเล็กๆ อาจจะทำให้เรือใหญ่ล่ม” เช่นเดียวกันกับการเงินของเรา เพราะเงินที่รั่วไหลเล็กๆ น้อยๆ นั้น อาจจะทำให้การเงินของเราถึงขั้นขึ้นตัวแดงก็ได้ ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า เงินรั่วไหลแบบไหนกันนะ ที่ทำให้การเงินของเราเสียหายโดยที่เราไม่รู้ตัว มีวิธีอย่างไรไม่ให้เงินรั่วไหล

 

หยุดใช้บัตรเครดิต ‘จ่ายล่วงหน้าโดยที่ยังไม่มีความจำเป็น’

‘หนี้บัตรเครดิต’ เกิดขึ้นเพราะความชะล่าใจในการซื้อของ ซื้อก่อนโดยคิดว่า ‘ยังมีเวลา’ จะหาเงินมาจ่ายทีหลัง หรือมีเงินเพียงพอในธนาคาร แต่เพราะความสะดวกของบัตรเครดิตก็ทำให้ใช้เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ จนทำให้เก็บเงินได้ไม่ถึงเป้าหมาย

 

รูรั่วจากความอยากได้

ค่าใช้จ่ายที่งอกเงยมาจากความต้องตาต้องใจและอยากได้สิ่งเหล่านั้นมาครอบครอง มักแหวกโผความจำเป็นในชีวิตมาสะกิดให้เราควักกระเป๋าจ่าย และยิ่งง่ายดายแบบมือลั่นได้ทันทีเมื่อคลิกซื้อได้ทันใจ บางครั้งยังพ่วงด้วยโปรโมชั่นมากระตุ้นต่อมอีก หากรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นกิเลสนำ หาใช่ความจำเป็น ต้องพยายามนับหนึ่งถึงสิบ ยับยั้งตัวเองให้ได้ คิดไว้เสมอว่าอะไรที่ทำได้ง่ายมักจะเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่ายาก ค่าใช้จ่ายที่ว่าเล็กๆ หากรวมยอดแต่ละครั้งอาจกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ชวนให้เสียดายทีหลัง


รูรั่วจากการเสี่ยงโชค

บางคนชอบวัดดวงด้วยการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 2 ครั้ง หากเพื่อความหวังเล็กๆ น้อยๆ ให้พอตื่นเต้นก็คงพอได้ แต่ไม่ควรทุ่มกับเลขเด็ดเลขดัง ยอมซื้อแบบเทกระเป๋าจัดชุดใหญ่ โดยลืมความเป็นจริงว่า ถ้าเสียแล้วคงไม่แคล้วกลายเป็นเศษกระดาษ ไร้เงาได้เงินต้นคืนกลับมาเหมือนการลงทุนอื่นๆ ดังนั้นต้องถือคติที่ว่า ลุ้นโชคให้พอดีกับตัว อย่าถึงขั้นเสียทรัพย์และนำมาซึ่งความเสียใจภายหลัง

 

ค่าใช้จ่ายด้านภาษี

บางคนอาจจะเข้าใจว่า แค่เราวางแผนให้เสียภาษีน้อยๆ ก็ถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว แต่แท้จริงแล้ว!!! เราต้องไม่ลืมที่จะวางแผนการเงินให้ถูกต้องตามกฎหมายภาษีอากรด้วย เพราะจากประสบการณ์ พบว่า.. เงินที่รั่วไหลจำนวนมากนั้นเกิดจากการทำผิดกฎหมายภาษี จนทำให้เกิดธุรกิจเกิดปัญหาสภาพคล่อง จากค่าปรับ และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ที่ต้องจ่ายเพิ่มถึง 3-4 เท่า

 

ความใจดีเป็นดาบสองคม


"เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด” เหตุการณ์แบบนี้ปรากฏให้เห็นนักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในหมู่พี่น้อง ญาติสนิท เพื่อนพี่ที่รัก ผู้มาขอร้องให้ช่วยเซ็นค้ำประกัน โดยอ้างถึงความเดือดร้อนและจำเป็นต่างๆ จนเราอดสงสารไม่ได้ แต่เมื่อเวลาเข้าตาจนจริงๆ เขาเหล่านั้นอาจหนีไปแบบไม่อำลาคนค้ำประกัน ทิ้งให้เราเคว้งคว้างกลางภาระหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ดังนั้นหากจะใจดี ก็ควรจะใส่ความใจแข็งลงไปหน่อย ถามหาอะไรที่พอมาเป็นหลักทรัพย์ หรือทวงถามแผนการชำระหรือผ่อนจ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อทุเลาโรคเบี้ยวหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ความเจ็บไข้ที่ออกแบบไม่ได้


การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แม้อนาคตเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ออก ด้วยเราไม่อาจรู้ว่าโรคทางพันธุกรรมหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือโรคระบาดไหนจะปะทุขึ้นอีก แต่ถ้ายังพอมีหนทางสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองด้วยการดูแลสุขภาพที่ดี ทั้งจากการกินอย่างรู้ที่มา และการออกกำลังกายให้พอเหมาะ ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา แน่นอนว่ายังมีเรื่องอุบัติเหตุเหนือความคาดหมายด้วย  ดังนั้น การรู้จักสำรองเงินเก็บเพื่อเรื่องฉุกเฉินหรือทำประกันไว้ จึงสำคัญไม่แพ้กัน


ลงทุนตามกระแส ไม่แน่ใจอย่าเสี่ยง


บนโลกสังคมออนไลน์ เรามักเห็นคำเชื้อเชิญ หรือการยิงโฆษณาชวนให้เข้าไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไหนจะเพื่อนฝูงคนที่คอยอัพเดทเรื่องการลงทุนที่ชวนให้เราอยากเข้าร่วม แพลตฟอร์มเหล่านี้จะนำข่าวในกระแส เช่น ทองคำ หุ้น หรือ คริปโทเคอเรนซี มาอัดใส่รัวๆ พร้อมโชว์พอร์ตคนที่ประสบความสำเร็จ จนอยากจะเปิดบัญชีตามในทันใด โปรดจำไว้เสมอว่า การก้าวเข้าไปโดยไม่ทำความรู้จักการลงทุนนั้น ถือมีความเสี่ยงมาก ควรหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเองเมื่อมีความพร้อม ไม่ใช่แห่ตามไปโดยไม่รู้จักพื้นฐานการลงทุนนั้นด้วยซ้ำว่ามีกลไกลอย่างไร มีความเสี่ยงระดับไหน

 

ข้อมูล : SCB , Krungsri

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง