GISTDA ปั้นนัก GIS ผลักดันชุมชนสารสนเทศ ณ จังหวัดเชียงราย
จิสด้า (GISTDA) หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ผลักดันการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ให้กับชาวชาติพันธุ์ ณ ชุมชนบ้านปางสา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำข้อมูลไปจัดการการใช้พื้นที่ และยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการใช้ข้อมูลดาวเทียมวัดปริมาณคาร์บอนเครดิตในชุมชนได้อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ กลุ่มชาวชาติพันธุ์เล่าว่า ในชุมชนบ้านปางสา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 137,500 ไร่ ประสบปัญหาความไม่ชัดเจนของเขตแนวพื้นที่ โดยมีความทับซ้อนกัน ทั้งพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีขอบเขตหมู่บ้านที่เป็นเอกสาร และชาวบ้านเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลด้านแผนที่ เพื่อแก้ปัญหานี้ ในช่วงระหว่างปี 2561-2566 จิสด้า (GISTDA) จึงได้ผลักดันการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ให้กับชาวบ้าน โดยอบรมให้ความรู้ การใช้เครื่องมือวัดและภาพถ่ายทางดาวเทียมต่าง ๆ กับผู้แทนชุมชน หรือนัก จีเอเอส (GIS) ชุมชน
ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศของจิสด้า (GISTDA) เผยว่า เป้าหมายของภารกิจนี้ ก็เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานเทคโนโลยีได้จริง ทั้งข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ระบบการหาตำแหน่ง และข้อมูลดาวเทียม สามารถจัดทำข้อมูลรายครัวเรือนและแบ่งขอบเขตที่ดินชุมชน บริหารจัดการการใช้พื้นที่ได้
โดยสิ่งที่ จิสด้า (GISTDA) ทำก็คือการนำเอาเทคโนโลยีมาสอน มาถ่ายทอดให้ชาวบ้านสามารถรู้ได้ว่า เทคโนโลยีสามารถที่จะใช้ในการจัดการพื้นที่เขาแก้ปัญหาที่ชาวบ้านพบเจออยู่ในพื้นที่ได้ เช่น จากเดิมที่ชาวบ้านอาจจะไม่ทราบว่าในหมู่บ้าน มีพื้นที่เท่าไหร่ ขอบเขตอยู่ตรงไหนก็สามารถสร้างแผนที่ชุมชนขึ้นมาได้ นำไปสู่การวางแผน การแบ่งพื้นที่ทำการเกษตร รู้ได้ว่าตรงไหนคือแหล่งน้ำที่ต้องนำมาใช้ ตรงไหนคือป่าที่ต้องดูแล ซึ่งชาวบ้านเองก็พบว่าการเรียนรู้การใช้เครื่องมือและข้อมูลจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ป่าทับซ้อนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการวางแผนการทำเกษตรกรรมของคนในชุมชนได้มากขึ้น
โดย ชัชวาล หลียา นัก GIS ชุมชนบ้านป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เผยว่าการใช้องค์ความรู้ที่ได้มาในการใช้เครื่องมือด้านภูมิสารสนเทศต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านสามารถจำแนกพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น จำแนกพืชผลการเกษตรของหมู่บ้านได้ ทำให้สามารถรู้ได้ว่าในหมู่บ้านมีนาเท่าไหร่ มีไม้ผลเท่าไหร่ มีไร่หมุนเวียนเท่าไหร่ มีพื้นที่ไร่ถาวรเท่าไหร่ ช่วยให้สามารถวางแผนการปลูกพืชต่าง ๆ ได้ดี
นอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านภูมิสารสนเทศให้กับคนในชุมชนแล้ว จิสด้า (GISTDA) ยังยกระดับคนพื้นที่ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี ไลดาร์ ทรีดี สแกนเนอร์ (LIDAR 3D Scanner) และภาพถ่ายดาวเทียมในแต่ละปี ประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าชุมชน โดยได้เริ่มแล้วที่ชุมชนบ้านโป่งขม ซึ่งอยู่ในเขตป่าตึง โดยตรวจวัดได้ถึงราว 46,000 ตันต่อไร่ เป็นตัวอย่างของการต่อยอดข้อมูลจาก GISTDA ที่ช่วยทำให้ชาวบ้านสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนได้อีกด้วย