รีเซต

วันนี้วันอะไร ทุกวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ตรงกับ "วันภาษาไทยแห่งชาติ"

วันนี้วันอะไร ทุกวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ตรงกับ "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2566 ( 09:47 )
230

ประวัติและความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ 

วันภาษาไทยแห่งชาติ ถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ทั้งนี้ถูกประกาศขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 มีจุดประสงค์หลักเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งช่วงหนึ่งของพระราชดำรัส ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทยไว้ว่า “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”


ความสำคัญและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังนี้

1. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกที่พระองค์ได้พระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้และอนุรักษ์ภาษาไทย

2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

3. กระตุ้นและสร้างความตระหนักรู้ของคนไทย ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยสืบเนื่องไป

4. เพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงในแวดวงวิชาการและวิชาชีพ ให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

5. เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะภาษาประจำชาติ และเป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของคนในชาติ


การจัดกิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ 

เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และเป็นการอนุรักษ์ รวมถึงเพื่อให้เห็นความสำคัญของภาษาไทย ตามจุดประสงค์ของการจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้น ตามสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน จะมีการจัดกิจกรรม รวมถึงนิทรรศการต่างๆ ในวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ และนำไปสู่การส่งเสริมให้ภาษาไทยดำรงอยู่คู่ชาติไทยสืบไป


รู้หรือไม่อักษรไทยตัวไหนเลิกใช้ไปแล้ว?

ฃ พยัญชนะตัวที่ 3 และ ฅ พยัญชนะตัวที่ 5 ในอักษรไทย ถูกระบุในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า "เป็นอักษรที่ไม่นิยมใช้แล้ว" อย่างไรก็ตาม ยังมีการใช้อักษร ฃ และ ฅ ในบางแวดวง โดยมีนัยว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ตัวอักษรไทยมีใช้ครบ 44 ตัว 


ตัวอย่างนักปราชญ์ผู้โด่งดังของไทย

1. ศรีปราชญ์ กวีเอกในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความรู้ความสามารถรออบด้าน โดยเฉพาะทางด้านการแต่งโคลงกลอน ซึ่งถือเป็นมือแต่งโคลงกลอนอันดับหนึ่งในสมัยนั้น

2. พระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีชื่อเสียงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมถึงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม



ที่มาข้อมูล : Wikipedia, www.chula.ac.th


ข่าวที่เกี่ยวข้อง