รู้จัก Colossus ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เบื้องหลังปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำ xAI ของอีลอน มัสก์
โคลอซัส (Colossus) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่พัฒนาโดยบริษัท เอ็กซ์ เอไอ (xAI) ของมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ ถูกสร้างขึ้นด้วยความร่วมกับบริษัท NVIDIA ปัจจุบันถือเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ การสร้างโคลอซัส (Colossus) ใช้เวลาเพียง 122 วัน โดยเริ่มจากการติดตั้ง GPU NVIDIA Hopper จำนวน 100,000 ตัว ที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี
ในระยะแรกโคลอซัส (Colossus) ใช้จีพียู (GPU) หรือหน่วยประมวลผลกราฟิก จำนวน 100,000 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาลและทรงพลังอย่างยิ่งสำหรับการประมวลผลแบบขนาน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล การเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือการจำลองแบบทางวิทยาศาสตร์ บริษัท บริษัท เอ็กซ์ เอไอ (xAI) มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนจีพียู (GPU) เป็น 200,000 ตัว เพื่อรองรับงานที่ซับซ้อนและความต้องการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ระบบระบายความร้อน
สำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ระบบระบายความร้อนนับว่ามีความสำคัญสูง เพื่อจัดการกับพลังงานความร้อนที่เกิดจากการทำงานของจีพียู (GPU) และซีพียู (CPU) หรือหน่วยประมวลกลางคอมพิวเตอร์ในระดับสูง โคลอซัส (Colossus)ใช้ระบบ Liquid Cooling ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการลดอุณหภูมิ ระบบนี้ช่วยป้องกันความร้อนเกินขีดจำกัด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการประมวลผลในระดับใหญ่ และยังช่วยเพิ่มความเสถียรและอายุการใช้งานของฮาร์ดแวร์
เชื่อมต่อผ่านเครือข่าย Spectrum-X
โคลอซัส (Colossus) เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายอีเทอร์เน็ต Spectrum-X ของบริษัท อินวิเดีย (NVIDIA) ซึ่งเป็นเครือข่ายความเร็วสูง เครือข่ายนี้สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้สูงถึง 800 GB/s ต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่ช่วยให้การประมวลผลข้อมูลและการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์มีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดปัญหาคอขวดของการส่งข้อมูลในโครงสร้างขนาดใหญ่
ความพิเศษของเครือข่ายอีเทอร์เน็ต Spectrum-X อยู่ตรงที่สามารถลดความหน่วงของแอปพลิเคชันให้เป็นศูนย์ และขจัดการสูญเสียแพ็กเก็ตอันเนื่องมาจากการชนกันของข้อมูลหากใช้งานเครือข่ายอีเทอร์เน็ตปกติทั่วไป โดยรักษาอัตราข้อมูลที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 95 เปอร์เซ็นต์ผ่านระบบ "การควบคุมความแออัด"
อาจกล่าวได้ว่าเครือข่ายอีเทอร์เน็ต Spectrum-X นั้นไม่ใช่เทคโนโลยีอีเทอร์เน็ตแบบธรรมดาทั่วไป แต่แกนหลักของแพลตฟอร์ม คือ สวิตช์อีเทอร์เน็ต Spectrum SN5600 ซึ่งบริษัท อินวิเดีย (NVIDIA) อ้างว่าสามารถรองรับการรับส่งข้อมูลได้ถึง 800 Gbps ต่อพอร์ตเดียว สวิตช์นี้สร้างขึ้นบน ASIC หรือวงจรรวมที่ได้รับการออกแบบมาเฉพาะเจาะจงสำหรับการทำงานประมวลผลแบบกำหนดเองของ Spectrum-4 ซึ่งบริษัท เอ็กซ์ เอไอ (xAI) ได้จับคู่กับ Nvidia BlueField-3 SuperNIC เพื่อเร่งความเร็วการสื่อสารระหว่างจีพียู (GPU) หรือหน่วยประมวลผลกราฟิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายการใช้งานโคลอซัส (Colossus)
โคลอซัส (Colossus) ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับงานที่มีความซับซ้อนและต้องการพลังการประมวลผลสูง เช่น การเทรนโมเดลภาษาขนาดใหญ่ในตระกูลกร็อก (Grok) ของบริษัท บริษัท เอ็กซ์ เอไอ (xAI) เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ หรือการวิจัยทางชีววิทยา
รวมไปถึงการนำปัญญาประดิษฐ์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ไปใช้ทำงานอื่น ๆ ให้กับบริษัทเครือของอีลอน มัสก์ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา (Tesla) ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทด้านเทคโนโลยีการขนส่งอวกาศ เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล blink-drive, Techspot