รีเซต

“เจ๊หงส์” เป็นเหตุ โค้ชฟิตเนสหนุ่มจีนติดเชื้อ “เอช.ไพโลไร” ผ่านน้ำลายจากการจูบ

“เจ๊หงส์” เป็นเหตุ โค้ชฟิตเนสหนุ่มจีนติดเชื้อ “เอช.ไพโลไร”  ผ่านน้ำลายจากการจูบ
TNN ช่อง16
18 กรกฎาคม 2568 ( 15:51 )
11

“เจ๊หงส์” เป็นเหตุ โค้ชฟิตเนสหนุ่มจีนติดเชื้อ “เอช.ไพโลไร” ผ่านน้ำลายจากการจูบ

โค้ชฟิตเนสหนุ่มชาวจีนรายหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดียว่า ตนเองติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เอช.ไพโลไร” จาก “เจ๊หงส์”   หรือ “หนานจิงหงเจี่ย” เป็นชื่อเรียกในโลกออนไลน์ของชายชาวจีนคนหนึ่ง วัย 38 ปี ซึ่งมีพฤติกรรมปลอมตัวเป็นหญิงข้ามเพศ หลอกล่อหนุ่มๆ มาร่วมหลับนอนด้วย ซึ่งแพทย์ในพื้นที่ได้ยืนยันแล้วว่า การติดเชื้อดังกล่าวมีความเป็นไปได้จริง โดยเฉพาะการแพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย

“เอช.ไพโลไร”  ติดต่อผ่าน “การจูบ” ได้จริงหรือ?

ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจ "หมอแล็บแพนด้า"  ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวระบุว่า  จากข้อมูลทางการแพทย์ เชื้อ Helicobacter pylori สามารถพบได้ในน้ำลายของผู้ติดเชื้อ และมีรายงานว่าอาจติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การจูบ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โอกาสในการติดเชื้อจากการจูบนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

- ปริมาณเชื้อในน้ำลายของผู้ติดเชื้อ

- ระยะเวลาการสัมผัส

- การมีบาดแผลในช่องปากของผู้รับเชื้อ

ช่องทางที่พบได้บ่อยกว่ากลับเป็น “การติดต่อจากอุจจาระสู่ปาก” ซึ่งมักเกิดจากพฤติกรรมสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำแล้วสัมผัสอาหาร โดยเฉพาะในเด็กและสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน

ภัยเงียบที่มาพร้อมเชื้อ “เอช.ไพโลไร”

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย มันจะเคลื่อนไปยังกระเพาะอาหาร และอาศัยอยู่บริเวณเยื่อบุผิวของกระเพาะ โดยอาศัยกลไกการอยู่รอดที่ซับซ้อน เช่น การผลิตเอนไซม์ “ยูรีเอส (urease)” เพื่อเปลี่ยนสภาพความเป็นกรดให้เอื้อต่อการมีชีวิต นอกจากนี้ยังผลิตสารพิษต่าง ๆ ที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย เช่น

CagA: เพิ่มความเสี่ยงในการกลายพันธุ์ของเซลล์ อาจนำไปสู่มะเร็งกระเพาะอาหาร

VacA: ทำลายเซลล์เยื่อบุกระเพาะ ทำให้เกิดแผลและอาการอักเสบ

อาการและโรคที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ “เอช.ไพโลไร”

เชื้อ “เอช.ไพโลไร” ถูกจัดให้เป็น “สารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1” โดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับโรคหลายชนิด ได้แก่:

กระเพาะอักเสบเรื้อรัง: พบได้บ่อยที่สุด และมักไม่แสดงอาการในระยะแรก

แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น: ส่งผลให้มีอาการปวดท้องเรื้อรัง

มะเร็งกระเพาะอาหาร: โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีสาร CagA

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด MALT: มักเกิดจากการติดเชื้อ H. pylori โดยตรง

ป้องกัน “เอช.ไพโลไร” ได้ ด้วยการมีสุขอนามัยที่ดี

แพทย์แนะนำให้ประชาชนรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการจูบหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโดยไม่จำเป็น

หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องเรื้อรัง หรือมีประวัติในครอบครัวเป็นโรคกระเพาะ ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อ H. pylori และรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง