นาทีทองช้อนหุ้นไทย! ตัวไหนน่าลงทุนระยะสั้น-ยาว เช็กที่นี่ !

ภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาย่อตัวลงจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดจีดีพีปี 68 เหลือ 1.8% จากเดิม 2.8% ผสมโรงการเลื่อนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ตออกไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่ตลาดหุ้นภูมิภาคปรับตัวลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากความกังวลว่าร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่ของ สหรัฐฯ จะทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นล้วนเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศตลาดหุ้นไทย ส่วนในสัปดาห์หน้าตลาดหุ้นไทยจะมีทิศทางเป็นอย่างไร TNN Online พาไปไขคำตอบจากกูรูตลาดทุน
เริ่มจาก "ภราดร เตียรณปราโมทย์" ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส มองว่า ตลาดหุ้นไทยเทียบเพื่อนบ้านตั้งแต่ต้นพ.ค.-ปัจจุบันมีทั้งบวกและลบสลับกัน โดยหุ้นที่บวกได้ดีคือตลาดหุ้นฮ่องกงบวก 6.4% อินโดนีเซียบวก 5.9% ญี่ปุ่นบวก 2.6% เกาหลีใต้บวก 1.4% ยกเว้นฟิลิปปินส์ติดลบ 0.8% และไทยติดลบ 2%
โดยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเริ่มหลั่งไหลเข้ามาตลาดหุ้นเอเชีย หลังตลาดมองว่าสถานการณ์สงครามทางการค้าเริ่มคลี่คลาย เป็นผลจากสหรัฐฯ-จีนพักรบชั่วคราว 90 วัน แต่ตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์น้อย เป็นผลมาจากการเมืองในประเทศที่เริ่มร้อนแรงทำให้ต่างชาติชะลอเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งตั้งแต่ต้นพ.ค.-22 พ.ค.เงินทุนไหลเข้ามาเพียง 2.3 พันล้านบาท ดังนั้นคาดหวังว่า เม็ดเงินที่มาจาก Thai ESGX สัปดาห์ละ 1,000 ล้านบาทที่เข้ามาในแต่ละสัปดาห์จะช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยไม่ให้ลงมากนัก แม้ว่าที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันยังขายสุทธิในกองทุนอื่น แต่ Thai ESGX ยังมีแรงซื้อเข้ามาอยู่
หากย้อนดูตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.ดัชนีแตะที่ระดับ 1,230 จุด แต่ขณะนี้ลงมาอยู่ที่ 1,170 จุดลงมา 60 จุด สาเหตุหลักมาจากปัจจัยการเมือง โดยแรงขายหลักเกิดจากนักลงทุนสถาบันฯ ขายสุทธิ 4.6 พันล้านบาท ส่วนนักลงทุน ต่างชาติ คอยช่วยพยุงเล็กน้อย เห็นได้จากเม็ดเงินไหลเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3 วันติด 2.7 พันล้านบาท ตราสารหนี้ 1.67 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิ TFEX 7 วันติด 2.4 หมื่นสัญญา
ส่วน Valuation หุ้นไทยช่วงนี้ถือว่าถูก เพราะปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นไทยจนส่งผลต่อขนาดของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป เหลือเพียง 14.5 ล้านล้านบาท น้อยกว่าตลาดตราสารหนี้ที่ 17.1 ล้านล้านบาท ซึ่งตลอดระยะเวลา 16 ปี (2552-2568 ) ที่จัดเก็บสถิติปกติมาร์เก็ตแคป ของตลาดหุ้นไทยจะสูง กว่าตลาดตราสารหนี้
นอกจากนี้อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี หรือ PBV อยู่ที่ 1.08 เท่า และหากหัก DELTA ออก SET จะมี PBV 0.98 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำบุ๊ค โดยใน อดีตตลอด 25 ปี SET มีโอกาส PBV น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1.1 เท่า เกิดขึ้นแค่ 2% เท่านั้น และหากซื้อหุ้นช่วงที่ SET มี PBV น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1.1 เท่า มีโอกาสได้ผลตอบที่ดีในช่วง 5 ปี ถึง 205% หรือประมาณ 25% ต่อปีถือเป็นจังหวะในการซื้อสะสมลงทุน ระยะยาว
หุ้นเด่นแนะนำ เน้น หุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ และ Outperform
-กลุ่ม CHINA PLAY เช่น SCC ราคาเป้าหมาย 210 บาท SCGP ราคาเป้าหมาย 25 บาท
- หุ้นกำไรเติบโต เช่น OSP ราคาเป้าหมาย 18.30 บาท CK ราคาเป้าหมาย 24 บาท
- หุ้นรับผลบวกจากเงินบาทแข็งค่า เช่น GULF ราคาเป้าหมาย 68.25 บาท
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ประเด็นภาษีตอบโต้ของสหรัฐอาจกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีสหภาพยุโรป 50% ส่วนในประเทศจับตาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ที่จะเข้าสภาฯ ในวันที่ 28 พ.ค.นี้จะผ่านสภาฯ หรือไม่ รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งประเมินแนวต้านแรกไว้ที่ 1,200 จุด แนวต้านถัดไปที่ 1,230 จุด แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น แนวรับแรกที่ 1,150 จุด แนวรับถัดไปที่ 1,130 จุด
ฝั่ง "ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์" AISA, CFTe ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า “ฟื้นตัว” ประเมินแนวต้านแรกที่ 1,190 จุด แนวต้านถัดไปที่ 1,207 จุด แนวรับแรกที่ 1,167 จุด แนวรับถัดไปที่ 1,152 จุด โดย เรื่องสำคัญที่มีน้ำหนักคือ
1. เงินเฟ้อ PCE เดือน เม.ย. คาดลดลง เนื่องจาก CPI + PPI ที่ออกมาในช่วงก่อนหน้าต่ำคาด ผสานกับหมวดบริการราคาปรับลง มีโอกาสหนุน US Bond yields คลายตัวลงต่อ และบวกสินทรัพย์เสี่ยง และหนุน Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย
2.ตัวเลขส่งออก เม.ย. ที่ประกาศในวันที่ 26 พ.ค. คาดเติบโตต่อเนื่อง และ 28 -30 พ.ค. ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2569
หุ้นเด่นนำตลาด กลุ่มเป็นเป้าหมาย Fund Flows กลุ่ม ICT , โรงไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง พลังงาน สายการบิน ค้าปลีก ฯลฯ
• GULF(TP25F-56.5): Yield มีโอกาสอ่อนลงตามภาพเงินเฟ้อสหรัฐฯ + เงินบาทแนวโน้มแข็งค่า + เป็นหนึ่งในหุ้นได้ประโยชน์จากแนวทางรัฐฯ ไทยจะเจรจากับสหรัฐฯ
• SCC (TP Con-210) : คาดแรงหนุนการหารือการค้าสหรัฐฯ – จีนเพิ่ม + แนวโน้ม Spread ปิโตเคมี HDPE- Natha มีทิศทางสูงขึ้น
• TOP(TP25F-33.0) : ความกังวลเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอยลดลง ผสานค่าการกลั่นเร่งขึ้น
ปัจจัยบวกลบที่ต้องติดตาม
- 27 พ.ค. กำไรภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย.ของจีน
- 27 พ.ค. ประชุม ครม.คาดโครงการลงทุนภาครัฐฯ จะอนุมัติมากขึ้น
- 28 -30 พ.ค. ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2569
- 30 พ.ค. ติดตามเงินเฟ้อสหรัฐ Core PCE เม.ย. คาด +0.1%m-m
- 30 พ.ค. ยอดนำเข้า/ส่งออก และดุลการค้าระหว่างประเทศ เดือนเม.ย.
ปิดท้ายที่ "วทัญ จิตต์สมนึก" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย มองว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าเชื่อว่า Upside ด้านบนจะยังจำกัดด้วยสถานการณ์โลกที่ปั่นป่วน นักลงทุนกลับมากังวลกับภาระหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯและตลาดโลกก็ได้ Price In ปัจจัยหนุนเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนไปแล้ว
ส่วนปัจจัยในประเทศยังเผชิญกับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโตต่ำและกำไรบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะผ่านช่วงดีสุดไปแล้วใน 1Q25 ปัจจัยรอติดตามสัปดาห์หน้าได้แก่เงินเฟ้อสหรัฐฯ (PCE) ในคืนวันศุกร์ Bloomberg Consensus คาดการณ์ที่ 2.2%YoY และการค้าระหว่างประเทศของไทยในวันจันทร์ Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 12%YoY คาดการณ์กรอบเคลื่อนไหวที่ 1,145 – 1,200 จุด
หุ้นเด่นแนะนำ
- OSP (TP 19.00) รายงานกำไรสุทธิ 1Q25 ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 1.27 พันล้านบาท (+53%YoY) หลังตัดรายการพิเศษจากการขายกิจการในเมียนมา 295 ล้านบาท จะมีกำไรปกติ 970 ล้านบาท (+17%YoY, +58%QoQ) ใกล้เคียงกับที่เราและ BB consensus คาด รับแรงหนุนจากยอดขายในตลาดต่างประเทศที่เติบโต 22% YoY พร้อมด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น 380 bps YoY ชดเชยยอดขายเครื่องดื่มในประเทศที่ปรับตัวลดลง 16% YoY เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 19.00 บาท ไม่รวม upside จาก M&A ที่อาจจะเกิดขึ้น และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่น่าสนใจระดับ 6%-7% บวกกับแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น MoM ต่อเนื่อง