"นพ.ยง" แจงปมหลายประเทศ ระงับใช้วัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกา
วันนี้ (12 มี.ค.64) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โควิด-19 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "โควิดวัคซีน ข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำเป็นที่วิตกกังวลกันว่า วัคซีน astrazeneca จะใช้ในบ้านเรา มีข่าวในหลายประเทศหยุดใช้ชั่วคราว เพราะมีผู้ป่วยเกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำและมีการเสียชีวิต 1 คน จากการศึกษาใน 3 ล้านรายที่ฉีดวัคซีน มีการป่วยเกิดขึ้น 22 คน หรือเทียบกับ 7 คนในล้านคนที่ฉีดวัคซีน
แน่นอนเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ จะต้องมีการตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่
อุบัติการณ์การเกิดการอุดตันของเส้นเลือดดำ พบได้บ่อยในคนยุโรป อเมริกามากกว่าคนเอเชีย ถึง 3 เท่า เราจะเห็นว่าเวลาขึ้นเครื่องบิน จะมีการแนะนำเสมอ ให้กินน้ำให้มาก และให้ขยับตัว ขยับเท้าเพื่อป้องกันการเกิดภาวะการณ์ดังกล่าว ปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอนที่ทำให้คนยุโรปมีโอกาสเป็นมากกว่าคนเอเชีย
หลังจากเกิดเหตุการณ์ ทางประเทศอังกฤษได้ฉีดไปแล้วมากกว่า 11 ล้านคน ก็ไม่พบอุบัติการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โรคดังกล่าวจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยคนในยุโรปที่อายุเกิน 60 ปีจะมีอุบัติการณ์ประมาณ 5-13 ใน 1,000 person year
Prof Paul Hunter ในภาวะปกติถ้าฉีดวัคซีนแล้วติดตามไป 1 เดือน ในคนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปในช่วงเวลา 1 เดือนจะพบได้ถึง 400 ถึง 1,000 episode ต่อประชากร 1 ล้านคน
อย่างไรก็ตามจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาสาเหตุว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ หรือเป็นอาการที่พบร่วมด้วยหลังฉีดวัคซีน อะไรก็ตามแต่ที่เกิดร่วมด้วยหลังฉีดวัคซีนจำเป็นต้องมีการสอบสวน อย่างที่เคยกล่าวมาแล้วหลังการฉีดวัคซีนของ Pfizer ในนอร์เวย์และเกาหลี มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น แต่ต่อมาก็พิสูจน์ว่าการเสียชีวิตดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
วัคซีน Pfizer ก็ยังคงดำเนินการฉีดต่อไปอีกเป็นจำนวนมากหรือจะมากที่สุดก็ได้ในขณะนี้ คนเอเชียอย่างประเทศไทยมีโอกาสเกิดโรคนี้น้อยกว่าคนยุโรปถึง 3 เท่า และวัคซีนที่ใช้ที่ทางยุโรปหยุดการใช้ใน batch นี้ผลิตในยุโรป จึงมีการระงับใช้ไปไม่น้อยกว่า 6 ประเทศ แต่ว่าวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย ผลิตจากโรงงานเกาหลี จากข้อมูลทั้งหมดคณะกรรมการโดยเฉพาะ องค์การอาหารและยา จะต้องเป็นผู้กำหนดสำหรับประเทศไทย และจะต้องมาหารือร่วมกัน"