รีเซต

เปิดโมเดล ‘สมุทรสาคร’ สยบคลัสเตอร์ใหญ่

เปิดโมเดล ‘สมุทรสาคร’ สยบคลัสเตอร์ใหญ่
มติชน
9 พฤษภาคม 2564 ( 07:34 )
77

การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในรอบที่สาม ตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พบคลัสเตอร์มากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะย่านคลองเตย ที่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำชับให้เร่งกระจายวัคซีนในพื้นที่ชุมชนคลองเตย เริ่มตั้งแต่วันที่ 4-19 พฤษภาคม 2564 พร้อมตรวจค้นหาเชิงรุกให้ได้วันละ 1,000 คน คาดว่าในวันที่ 19 พฤษภาคม จะตรวจเชิงรุกได้ถึง 20,000 คน จากประชากรในชุมชน 85,000-90,000 คน

 

 

สถานการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์สั่งการ ให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด ให้ใช้ประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาคร หรือ “สมุทรสาครโมเดล” มาปรับใช้ “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา”

 

 

ขณะเดียวกัน “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็กล่าวถึงคลัสเตอร์ใหม่ของ จ.สมุทรปราการ พบแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าวของบริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ถนนพุทธรักษา หมู่ 6 ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เป็นบริษัทขุดอุโมงค์ ร้อยสายไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้านครหลวง ผลตรวจหาเชื้อโควิดเบื้องต้นเจอตัวเลขหลักร้อยต้นๆ เข้าไปแล้ว จะใช้ “โมเดลสมุทรสาคร” เช่นกัน จึงขอหยิบยก “สมุทรสาครโมเดล” มา กล่าวกันว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นสูตรสำเร็จที่ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ในการแก้ปัญหากรณีเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ๆ

 

และหากจำกันได้ สมุทรสาครภายใต้การขับเคลื่อนของ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธาน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมองคาพยพ ที่บริหารจัดการอย่างเข้มข้นเป็นจังหวัดแรกๆ ของประเทศ โดยเฉพาะมาตรการบังคับให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้าน หากใครไม่ปฏิบัติตาม หากถูกจับกุมจะปรับไม่เกิน 20,000 บาท บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 หรือปีที่แล้ว เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนต่อมา สถานการณ์การควบคุมโรคดีขึ้นเป็นลำดับ และมีการผ่อนคลายทั้งประกาศและกิจกรรม

 

 

สำหรับ “สมุทรสาครโมเดล” จะเริ่มเข้าตรวจคัดกรองเชิงรุกกลุ่มแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ใช้มาตรการเชิงรุกเดินเข้าไปหากลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองว่ามีผู้ติดเชื้อซุกซ่อนอยู่หรือไม่ ทั้งกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว กลุ่มผู้ที่ขับรถยนต์โดยสารที่ต้องเจอพบปะผู้คนหลากหลาย การเดินเข้าหากลุ่มเสี่ยงนี้ เป็นนโยบายที่เกี่ยวเนื่องมาจากการทำเมืองสมุทรสาครให้น่าอยู่ ให้ ปลอดโรค ปลอดภัย

 

 

ต่อมามีการสุ่มตรวจกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ จำนวน 2,100 ราย ไม่พบเชื้อโควิดแต่อย่างใด ต่อมาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันกับการสวมหน้ากากอนามัย ก็คือ เรื่องของการดูแลความสะอาดตลาดใหญ่ในพื้นที่เทศบาลนครสมุทรสาคร ทั้งฝั่งมหาชัยกับฝั่งท่าฉลอม เนื่องจากที่นี่เป็นศูนย์กลางอาหารทะเลของประเทศไทย ต้องทำให้ตลาด 2 ฝั่งนี้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ด้วยมาตรการทั้ง “จับ ปรับ ปิด” หากพ่อค้าแม่ค้าไม่ปฏิบัติตามอาจจะจับมาเตือนก่อน แต่ถ้ายังฝืนอีกก็ต้องสู่การปรับ และถ้าเจ้าของหรือผู้ดูแลตลาดปล่อยปละละเลยมาตรการของจังหวัดนั้น จะถูกสั่งปิดตลาดเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะดำเนินแก้ไขแล้วเสร็จ

 

 

สมุทรสาครโมเดลยังให้ความสำเร็จกับการเว้นระยะห่างทางสังคม ต้องปรับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ที่ทำกันทั้งโลก ทุกกิจกรรม ทุกการเคลื่อนไหวเวลาอยู่นอกบ้าน เพื่อต้องการให้จบโดยเร็ว ภายใต้การปฏิบัติ 4 ด้าน คือ สวมหน้ากากผ้า 100 เปอร์เซ็นต์,เฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก,ทำตลาดให้ปลอดโรค ปลอดภัย ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และสุดท้ายคือ เว้นระยะห่างทางสังคม

 

 

สมุทรสาครโมเดลประสบความสำเร็จอย่างดีในการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด ทำให้ตัวเลขติดเชื้อลดลงจนเหลือศูนย์ในเวลาต่อมาได้

 

 

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เคยอธิบายถึง “โควิดสมุทรสาคร” ในระหว่างแถลงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่สมุทรสาครอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น โดยจังหวัดค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง สะสมทั้งสิ้น 211,764 ราย พบติดเชื้อ 13,597 ราย รวมถึง การเฝ้าระวัง เชิงรุกตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2563-8 มีนาคม 2564 เป้าหมายสถานที่ 1,806 แห่ง ตรวจไปแล้วจำนวน 112,595 ราย คิดเป็นกว่า 90% ของเป้าหมาย พบติดเชื้อ 975 ราย อัตราการพบเชื้อ 0.87% แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์อยู่ในระดับควบคุมได้

 

 

ขณะที่มาตรการ “บับเบิ้ลแอนด์ซีล” ที่ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อหนาแน่น จำนวน 50,474 คน มีการติดเชื้อกว่า 10% เมื่อผ่านไปตามกำหนดและทำการตรวจภูมิคุ้มกัน พบว่า ในจำนวนนี้ ประมาณ 70% มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ จากผลงานดังกล่าวทำให้ทางจังหวัดสมุทรสาครได้ผ่อนปรนผ่อนคลายระดับพื้นที่ลงมา

 

อย่างไรก็ตาม นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครให้ความเห็นกรณีการใช้สมุทรสาครโมเดลมาช่วยแก้ปัญหาพื้นที่คลัสเตอร์ใหญ่ๆ ว่า ความยากง่ายในการที่จะซีลคลองเตยให้เหมือนกับที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาครนั้น คงเป็นเรื่องยากอยู่พอสมควร เพราะพื้นที่ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร กับ คลองเตย มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก

 

 

อาทิ 1.ชุมชนคลองเตยมีขอบเขตของพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน 2.ผู้ติดเชื้อและผู้เช่าพักอาศัยส่วนใหญ่เป็นคนไทย การจัดการจึงค่อนข้างที่จะยากกว่าชาวต่างชาติ และ 3.ปัญหาเชิงสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เป็นปัญหาที่ซับซ้อนต่อการใช้วิธีการบับเบิ้ลแอนด์ซีล แบบที่ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครหรือภายในโรงงานอุตสาหกรรม

 

 

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าแนวทาง “บับเบิ้ล แอนด์ ซีล” (Bubble and SEAL) เพื่อคุมเข้มและลดการแพร่เชื้อจากโรงงานในพื้นที่ได้ผลที่ใช้กับพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จะไม่สามารถนำไปได้เลยกับชุมชนคลองเตย เพียงแต่ต้องใช้วิธีการนำมาปรับรูปแบบให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เท่านั้น โดยใช้หลักการ ระบาดวิทยา (ดั้งเดิม) มาผนวกกับวิธีการบับเบิ้ลแอนด์ซีล อาจจะต้องมีการชี้เป้าบริเวณที่มีการติดเชื้อสูง ทำการล็อกพื้นที่เป็นจุดๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายขยายเป็นวงกว้างต่อไป

 

 

หวังว่า “สมุทรสาครโมเดล” ที่นำมาปรับใช้จะช่วยสกัดและยุติการแพร่ระบาดที่คลัสเตอร์ใหญ่ทั้งคลองเตย และสมุทรปราการลงได้ในเร็ววัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง