รีเซต

วิกฤต “เด็กเกิดน้อย” นับถอยหลังคนไทยเหลือ 33 ล้านคน

วิกฤต “เด็กเกิดน้อย” นับถอยหลังคนไทยเหลือ 33 ล้านคน
TNN ช่อง16
16 มกราคม 2567 ( 15:50 )
52

“ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ปี 2566  มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% และในปี 2583 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12%”


ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐเปิดเผยว่า ตลอดทั้งปี 2566 ทั่วโลกมีอัตราประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ75 ล้านคน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% และคาดว่าในปี 2567 ทุก ๆ วินาทีจะมีอัตราการเกิดโดยเฉลี่ยที่ 4.3 คน และอัตราการตายเฉลี่ยที่ 2 คนทั่วโลก



ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นกัน มีข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี 2506 – 2526 ลดลงเหลือ 485,085 คน ในปี 2564 ในขณะที่มีจำนวนการตาย 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คนทำให้ตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ดังนั้นหากปล่อยให้อัตราการเกิดน้อยลงต่อไปเรื่อย ๆ ในระยะยาวจะส่งผลให้ประเทศไทย มีประชากรเหลือเพียง 33 ล้านคน ในอีก 60 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร และการพัฒนาประเทศด้านสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต


เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย"มีผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารโลก วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมเสวนา


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในงานว่า ขณะนี้ประเทศไทยอาจจะยังไม่ค่อยตื่นตัว ในอีก 10 ปี ถึง 20 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ เพราะจะเชื่อมไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยทั้ง 65 ล้านคน ไปจนถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม จุดยืนของประเทศไทย ศักยภาพทางการค้าของประเทศไทย จะอยู่ที่ตรงไหน เหล่านี้คือปัญหา และเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. และผู้เชี่ยวชาญ ต้องมากระตุกต่อมให้คนไทยได้รับรู้ก่อนว่ามันคือระเบิดเวลาลูกใหญ่ไม่แพ้อีกหลายๆ ปัญหา



การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้นมีความท้าทายต่อการพัฒนาและออกแบบนโยบายด้านสังคมเป็นอย่างมาก ประชากรน้อยลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น แล้วใครจะมาเป็นคนจ่ายเงินเข้ากระเป๋าสำนักงบประมาณ และเป็นสิ่งที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรจะเป็นตัวกระทบและกำหนดนโยบายทางด้านสังคม สวัสดิการ และเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้วันนี้อัตราเด็กแรกเกิดที่น้อยลง อีกไม่นานปัญหาเรื่องแรงงานก็จะเข้ามา ในขณะที่ผู้สูงอายุหรือ ผู้มากประสบการณ์ ก็จะมีมากขึ้น คนใช้สวัสดิการมากขึ้นแต่คนเอาเงินเข้ากองทุนน้อย แล้วจะเอาคนกลุ่มไหนมาจ่ายเงินให้กับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพราะแหล่งรายได้เดียวของประเทศ คือภาษี 


รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปี 2565 จำนวนประชากรคนไทยลดลงต่อเนื่อง กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นและจีน ซึ่งหากเทียบกับประเทศจีนที่มีนโยบายคุมกำเนิดให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้เพียง 1 คน ทำให้ ปี 2566ที่ผ่านมาจีนเริ่มมีประชากรลดลง ขณะที่ไทยเริ่มลงไปไปแล้วก่อนหน้านั้น 1 ปี และสิ่งที่น่ากังวลใจคือครอบครัวไทยที่มีบุตรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีรายได้น้อย 



อีกหนึ่งกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา คือกระทรวงสาธารณสุข เจ้ากระทรวงอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศไว้ตั้งแต่วันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่า ปัญหาโครงสร้างประชากรไทย เป็นวิกฤตที่ต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ  ทั้งนี้ ยอมรับว่าเรื่องค่านิยมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวหลากหลายมากขึ้น และการมีลูกไม่ได้เป็นเป้าหมายของชีวิต ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ด้านการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่



ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำมาปรับปรุงแก้ไขเป็นนโยบายขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว ได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาแล้ว จากนั้นจะมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติและจะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพระยะ 5 ปีระหว่างปี 2566-2570 ซึ่งกลไกการขับเคลื่อนจะมีคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ กำกับติดตามแผนปฏิบัติการ ของแต่ละกระทรวง และจะบูรณาการการทำหน้าที่ร่วมกัน แล้วรายงานความคืบหน้าสู่ครม. "มั่นใจว่าเฉพาะกำลังของรัฐบาลที่มีอยู่สามารถที่จะให้ประชาชนมีลูกและสมบูรณ์พร้อมตั้งแต่อยู่ในท้อง หลังเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรและการเกิด IVF หรือเด็กหลอดแก้วปีละ 10 ราย


การไม่อยากมีลูกกลายเป็นความเชื่อและค่านิยมของคนในสังคมในปัจจุบันสืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ สภาวะสังคม และภาระหนี้สินการเงิน ทำให้ประเทศไทยกำลังเดินสู่ปัญหาโครงสร้างประชากร นับเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่จะส่งผลต่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศในอนาคต




เรียบเรียงโดย

มัชรี ศรีหาวงศ์




ข่าวที่เกี่ยวข้อง