รีเซต

ชาวอัฟกันล่าทองคำแท้ จากซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจที่กำลังหมดอายุขัย

ชาวอัฟกันล่าทองคำแท้ จากซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจที่กำลังหมดอายุขัย
TNN ช่อง16
11 กันยายน 2567 ( 10:52 )
32

---ขุมทรัพย์บนซากขยะ---


แม้ทองคำจะน้อย แต่ในห้วงเวลาที่ราคาทองคำพุ่งสูง มันคือธุรกิจที่สร้างมูลค่าอย่างมาก


“เดือนหนึ่ง เราสกัดทองคำได้ประมาณ 150 กรัม แต่เราไม่ได้สกัดทองแดงออกมาด้วย คนอื่น ๆ อาจสกัดทองแดง และส่งไปยังปากีสถาน หรือ โรงงานใหญ่ในเมืองฮารัต” ซาเยด วาลี อักฮา เจ้าของโรงงาน กล่าว


ซาเยด กล่าวด้วยว่า ทองคำที่พวกเขาสกัดได้มา สามารถขายได้ในราคา 79 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,650 บาทต่อกรัม 


ทองคำเป็นตัวนำไฟฟ้าและความร้อนได้ดี จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของแผงวงจรเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยคนงานจะสกัดส่วนที่เป็นทองคำออกมา และส่งไปต่อฝ่ายที่คอยสะสมทองคำในอ่างดีบุก จากนั้นก็จะใช้กรดเพื่อทำความสะอาด 


ราคาทองที่พุ่งสูง และการเข้าถึงกรดที่จำเป็นสำหรับการละลาย ส่งผลให้ธุรกิจนี้ฟื้นฟูขึ้นเล็กน้อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 


ถึงจะสร้างผลกำไรได้ดี เพราะราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ธุรกิจนี้ ก็มีระยะเวลาของมัน ขณะเดียวกัน เหล่าคนงานก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ เนื่องจากพวกเขาไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใด ๆ  เลย


“มันใช้เวลานานมากในการรื้อทุกสิ่งทุกอย่าง เราไม่มีเครื่องจักรที่จำเป็นเลย และยังมีอุปกรณ์ในการชำแหละเพียงน้อยนิด เรามีกรดไม่มากนัก ซึ่งเรานำเข้ากรดเหล่านี้มาจากปากีสถาน ฉะนั้น เราไม่สามารถสกัดส่วนอื่น ๆ ได้ นอกจากทองคำ” ซาเยด กล่าว 


“มันเป็นงานที่เหนื่อยมาก ๆ” เขา กล่าว 


---ธุรกิจที่ค่อย  หายไปตามกาลเวลา---


การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ เริ่มใช้วัสดุโลหะที่มีราคาถูกลง และไม่มีส่วนผสมของทองคำ นั่นหมายความว่า ธุรกิจสกัดทองลักษณะนี้ อีกไม่นานก็ต้องล้มหายตายจากไป 


ซาเยด กล่าวว่า เขาไม่คาดหวังว่า ภาคธุรกิจนี้จะโตขึ้น เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่มีความทนทานมากขึ้น และไม่มีทองคำผสมอยู่ 


“ผมไม่คิดว่า ธุรกิจนี้จะสามารถพัฒนาได้อีกต่อไปในอนาคต และมันก็จะหายไป” เขา กล่าว 


ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น, ฮ่องกง และดูไบ แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศเหล่านี้ กำลังหายไปจากตลาด 


“อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่น เช่น รีโมท, โทรทัศน์, แล็ปท็อป และโทรศัพท์มือถือ จะมีส่วนผสมของทองคำอยู่ แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากจีน มีส่วนประกอบแบบนี้ไม่เยอะ เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นกำลังลดลงเรื่อย ๆ ในตลาด ขณะที่ สินค้าจากจีนก็เพิ่มมากขึ้น และมันมีส่วนผสมทองคำน้อยมาก หรือ ไม่มีเลย เป็นเหตุผลว่าทำไมปริมาณทองคำจากสปิน บูลดัค ถึงลดลง เป็นไปได้ว่า จะมีทองคำเพียงแค่ 30-40 กรัมต่อสัปดาห์ที่เข้ามาตลาดแห่งนี้” โมฮัมหมัด ยาซีน คนงานหลอมทอง กล่าว 


---ค้าขายทองคำยังเฟื่องฟูในอัฟกาฯ---


แม้ต้องเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพที่จะตามมา หรือ ความไม่ยั่งยืนของการทำธุรกิจนี้ในอนาคต แต่ทองคำยังถือว่า เป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมของชาวอัฟกัน โดยเฉพาะงานแต่งงาน ที่หลายครอบครัวยอมเป็นหนี้ เพื่อแต่งกายเจ้าสาวให้เต็มไปด้วยทองคำให้ได้มากที่สุด


นั่นหมายความว่า ต่อให้ธุรกิจดังกล่าวหายไป ทองคำยังคงเป็นที่ต้องการในกลุ่มชาวอัฟกันไม่มีที่สิ้นสุด


“ยิ่งมีงานแต่งมากเท่าไหร่ ธุรกิจของเราก็จะยิ่งดีขึ้นมากเท่านั้น” โมฮัมหมัด เรซา ช่างทำอัญมณี กล่าว 


นอกจากนี้ ทองคำถือได้ว่า เป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและปลอดภัยสำหรับชาวอัฟกัน สามารถซื้อขายได้ง่ายกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ ทำให้การค้าขายทองคำเป็นธุรกิจหนึ่งที่เฟื่องฟูในอัฟกานิสถาน 


“ชาวอัฟกันซื้อทองคำ ทำเครื่องประดับจากทองคำและสวมใส่ หากพวกเขาต้องการเงิน พวกเขาก็ขายทองคำ ทั่วทั้งอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะในกันดาฮาร์ ผมพูดได้อย่างมั่นใจว่า นอกจากทองคำแล้ว ก็ไม่มีอะไรอื่นที่มีค่าเทียบเท่า” อาหมัด เชเคบ มุชฟิกี เจ้าของร้านอัญมณีและรองผู้อำนวยการสมาคมช่างอัญมณีในกันดาฮาร์ กล่าว 


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.youtube.com/watch?v=weJIiv957WM

https://www.barrons.com/news/afghans-hunt-for-gold-at-the-end-of-the-radio-443f30cf


#GlobalLink 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง