รีเซต

เครื่องวัดคุณภาพอากาศ ช่วยสำรวจสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ !

เครื่องวัดคุณภาพอากาศ ช่วยสำรวจสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ !
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2566 ( 16:04 )
129
เครื่องวัดคุณภาพอากาศ ช่วยสำรวจสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ !

งานวิจัยใหม่เผย เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ จะกลายเป็น ‘คลังข้อมูลความหลากลายทางชีวภาพ’ หลังพบว่าเครื่องสามารถดูดเก็บสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งล่องลอยอยู่ในอากาศได้โดยบังเอิญขณะตรวจจับมลพิษ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากดีเอ็นเอเหล่านี้ จะนำไปใช้ต่อยอดในการสำรวจและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้ในอนาคต


พบดีเอ็นเอในอากาศได้อย่างไร ?

อันที่จริงแล้ว การตรวจพบดีเอ็นเอจากสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ เป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ พืช หรือสัตว์ ในทุกวัน ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตจะหลุดร่วงปะปนกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ทั้งจากเส้นผม ขน น้ำลาย หรือแม้กระทั่งเศษผิวหนัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่จะมีบรรดาดีเอ็นเอปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งในดิน น้ำ หรือแม้กระทั่งอากาศ


และที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ก็ได้มีการสำรวจสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศผ่านการศึกษาดีเอ็นเอที่ปะปนมาในสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental DNA (eDNA) มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เน้นไปที่การสำรวจสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำและพื้นดินเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว การเก็บดีเอ็นเอจากอากาศถือเป็นเรื่องที่ยังค่อนข้างใหม่และเริ่มมีศึกษาวิจัยจริงจังในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา


เจออะไรบ้างจากดีเอ็นเอในอากาศ ?

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักรนำผลตัวอย่างฝุ่นจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ 2 แห่ง โดยเครื่องหนึ่งตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะใจกลางเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนอีกเครื่องตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท เมืองเอดินบะระ (Edinburgh) ประเทศสกอตแลนด์มาเปรียบเทียบกัน


 
เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศในเมืองเอดินบะระ ภาพจาก Guardian

 

 

จากการตรวจสอบตัวอย่างฝุ่นพบว่า เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศรวบรวมดีเอ็นเอสัตว์และพืชชนิดต่าง ๆได้มากกว่า 180 สายพันธุ์ เช่น นกฮูก เม่น แบดเจอร์ ข้าวสาลีและดอกเดซี ไปจนถึงดีเอ็นเอจากปลาและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก !


แบดเจอร์ ภาพจาก Unsplash 

 

 

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยเองยังไม่แน่ใจนักว่าดีเอ็นเอของปลาและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมาอยู่ในเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศได้อย่างไร แต่ทีมวิจัยมั่นใจว่าข้อมูลดีเอ็นเอเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ หรือเคยอาศัยในพื้นที่นั้น ๆ และติดตามว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ไหนมีจำนวนเพิ่มขึ้นลดลงบ้าง


ดีเอ็นเอในอากาศเป็นเครื่องมือใหม่ในการสำรวจสิ่งมีชีวิต

โดยทั่วไป การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพจำเป็นต้องลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งอาจไปรบกวนการดำรงชีวิตและพฤติกรรมสัตว์ป่าในธรรมชาติได้ และใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การเก็บรวบรวมดีเอ็นเอจากสิ่งแวดล้อมแบบนี้ช่วยให้การสำรวจสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งยังปลอดภัยและไม่ไปรบกวนสัตว์ป่าโดยไม่จำเป็น


“เกือบทุกประเทศมีเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาระดับโลกในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้างได้” โจแอนน์ ลิตเติ้ลแฟร์ (Joanne Littlefair) นักวิทยาศาสตร์จากควีนแมรี มหาวิทยาลัยลอนดอน (Queen Mary University of London) ประเทศอังกฤษเสริม 


ทั้งนี้คณะวิจัยกล่าวว่า การเก็บรวบรวมดีเอ็นเอจากเครื่องวัดคุณภาพอากาศเพิ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษาขั้นต้นเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ให้ศึกษาเพิ่มเติมอีก เช่น อัตราการสลายตัวของดีเอ็นเอ อายุการเก็บรักษาดีเอ็นเอ เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าข้อมูลที่ได้จากเก็บรวบรวมดีเอ็นเอในอากาศจะนำไปสู่การศึกษาและ ต่อยอดวิธีการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพได้ในอนาคต



ที่มาข้อมูล Guardian, IFLScience

ที่มาภาพ Guardian, Unsplash, Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง