รีเซต

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : ผู้ลี้ภัยการเมืองถูก "อุ้ม" ในพนมเปญ หนึ่งวันหลังโจมตีนายกฯ ทางเฟซบุ๊ก

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : ผู้ลี้ภัยการเมืองถูก "อุ้ม" ในพนมเปญ หนึ่งวันหลังโจมตีนายกฯ ทางเฟซบุ๊ก
บีบีซี ไทย
5 มิถุนายน 2563 ( 05:10 )
933
1

 

กลุ่มผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างแดนมองว่า การลักพาตัว "ต้าร์" วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย จากหน้าคอนโดมิเนียมที่พักในกรุงพนมเปญ กัมพูชา ช่วงเย็นวันที่ 4 มิ.ย. เป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" ของผู้มีอำนาจในประเทศ

 

การลักพาตัวอุกอาจครั้งนี้ ยังเป็นการ "ส่งสัญญาณ" ให้ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ส่วนใหญ่ล้วนถูกกล่าวหาว่าทำผิดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องระวังตัวมากขึ้นในต่างแดน

 

"นี่คือการเชือดไก่ให้ลิงดู... พวกเราผู้ลี้ภัยต้องระวังตัวให้มากขึ้น" ผู้ลี้ภัยการเมืองในยุโรปคนหนึ่งกล่าวกับ บีบีซีไทย

 

"พวกเราได้แต่ภาวนาว่าต้าร์จะไม่ถูกฆ่าเป็นรายต่อไป"

 

#saveวันเฉลิม ขึ้นอันดับ 1 ทางทวิตเตอร์

ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา มีคนไทยไปลี้ภัยในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 100 คน ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 6 คนที่หายตัวปริศนา อีก 2 คนกลายเป็นศพ ถูกคว้านท้องและยัดด้วยเสาปูน

 

หลังข่าววันเฉลิมถูกลักพาตัวถูกเผยแพร่ออกไปช่วงก่อนเที่ยงคืน แฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ถูกรีทวีตออกไปอย่างรวดเร็วจนขึ้นอันดับ 1 ไปอยู่ที่ 2.43 แสนครั้ง ช่วง 04:00 น. ของวันที่ 5 มิ.ย.

https://twitter.com/SAHINOP/status/1268577802153897985?s=20

 

วันเฉลิม คือ ใคร

วันเฉลิม แนะนำตัวเองบนเพจเฟซบุ๊ก Wanchalearm Satsaksit ว่าเขา "ต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยเพราะต้องการส่งเสริม ประชาธิปไตย มาขณะนี้ ได้เริ่มทำธุรกิจและออกสำรวจโลก" เขาระบุทางเพจด้วยว่าเคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน กับเยาวชนด้านแอชไอวี/เอดส์มาก่อน

 

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 วันเฉลิมมีชื่อในกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวเมื่อ 8 มิ.ย. 2557 ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เขาไม่ไป จึงถูกออกหมายจับบุคคลผู้ฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

 

เมื่อ มิ.ย. 2558 สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูล ผู้ต้องหาคดี ม. 112 พร้อมประเทศที่ใช้หลบหนีจาก หน่วยงานความมั่นคงที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหา โดยระบุว่า วันเฉลิมคือ 1 ใน 14 ผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ในลาว

 

เมื่อ 25 มิ.ย. 2561 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว แถลงที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ว่า จากการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก "กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ" ได้ลงทะเบียนใช้ในชื่อบัญชี Wanchalearm Satsaksit หรือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 35 ปี (ขณะนั้น) จากการสืบสวนพบว่าหลบหนีไปอยู่กัมพูชา โดยศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาดังกล่าวในความผิดฐาน "นำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวันเฉลิมพักอยู่ที่ลาวจริงไหม หรือย้ายจากลาวไปอยู่กัมพูชาเมื่อไร แต่เพื่อนผู้ลี้ภัยบอกกับบีบีซีไทยว่าเขาใช้ชีวิตอยู่ในกัมพูชามาราว 6 ปี และเลือกไม่ขอลี้ภัยในประเทศประชาธิปไตยอื่น ในยุโรป สหรัฐฯ หรือ ญี่ปุ่น เพราะ เขาเลือกทำธุรกิจด้านการเกษตรกรรมในกัมพูชา

 

บีบีซีไทยตรวจสอบเพจ Wanchalearm Satsaksit พบว่า การโพสต์ของเขาส่วนใหญ่เป็นข่าวเศรษฐกิจและข่าวการเมือง ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและทหารเป็นหลัก โดยล่าสุดเมื่อ 3 มิ.ย. 2563 เขาโพสต์วิดีโอความยาว 53 วินาทีทางเฟซบุ๊ก โจมตีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง หลังนายกฯออกมาขอร้องประชาชนว่าอย่าด่าว่าประเทศ

 

เกิดอะไรขึ้นกับเขา

เว็บไซต์ประชาไทรายงานเมื่อ 4 มิ.ย. อ้างแหล่งข่าวว่า วันเฉลิม ถูกอุ้มหายตัวไปจากหน้าคอนโดฯที่พักอาศัย ในกรุงพนมเปญ เมื่อเวลา 17.54 น. ขณะเดินลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโดฯ แม้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพยายามเข้าไปช่วย แต่กลุ่มคนที่มาอุ้มมีอาวุธปืนด้วย

 

แหล่งข่าวคนเดิมเล่าด้วยว่า ขณะเกิดเหตุเขาโทรศัพท์คุยกับวันเฉลิม โดยเสียงสุดท้ายที่ได้ยินจากวันเฉลิมผ่านโทรศัพท์คือ "โอ๊ย หายใจไม่ออก" ก่อนสายจะตัดไป แต่ในขณะนั้นเขาเข้าใจว่าเกิดอุบัติเหตุ และวันเฉลิมบาดเจ็บ จึงพยายามโทรกลับไปถามอีกประมาณครึ่งชั่วโมง รวมทั้งติดต่อเพื่อนของวันเฉลิม ให้ช่วยตรวจสอบที่คอนโดฯ จึงทราบว่า วันเฉลิม หายไป

 

เว็บไซต์ประชาไทได้แสดงภาพจากกล้องวงจรปิด เห็นรถเอสยูวีสีดำติดฟิล์มทึบคันที่เชื่อว่ามีวันเฉลิมอยู่ ขับออกจากคอนโดฯไป

ผู้ลี้ภัยในต่างแดนหลายรายบอกกับบีบ๊ซีไทยว่า หลังข่าวนี้เผยแพร่ออกไป พวกเขาได้พยายามติดต่อกับวันเฉลิมผ่านทางแอปกลุ่มสนทนา แต่ไม่สามารถติดต่อได้

"พนมเปญไม่ใช่ที่ซ่อนที่ปลอดภัยแล้ว ผู้ลี้ภัยชาวไทยส่วนใหญ่ย้ายไปประเทศอื่นแล้ว" ผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนหนึ่งที่เคยพักอยู่ในกัมพูชากล่าว

 

"ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนตอนนี้ ก็ล้วนไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยคนไทย เพราะ ผู้นำอำนาจนิยมทั้งหลายต่างผูกมิตร ช่วยเหลือกันหมด"

ยังไม่มีตัวแทนของทางการไทยและกัมพูชาออกมาชี้แจงในเรื่องนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง