“ร้อนระอุ” แทบไหม้ อากาศแปรปรวนสุดขั้ว
“ปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” (El Nino) ในไทยกำลังจะผ่านพ้นไปและจบเร็วกว่าคาดการณ์ จากนั้นปรากฎการณ์ “ลานีญา” (La Nina) จะเข้ามาแทนคาดว่าในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. นี้ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะ “เอลนีโญ” กําลังอ่อนทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ จะเห็นได้จากส่งท้ายเดือนเม.ย.ที่แทบทุกพื้นที่ร้อนจัด หลายจังหวัดอุณหภูมิสูง 40 องศาฯ ส่วน อ.เถิน จ.ลำปาง ยังคงทำสถิติพื้นที่ร้อนที่สุดของไทยในปี 2567 อุณหภูมิสูง 44.2 องศาฯ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่วัดได้จริง แต่ดัชนีความร้อน (Heat Index) หรือ ความรู้สึกที่ร่างกายรู้สึกได้นั้นจะสูงกว่านั้น”
ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้อากาศแปรปรวนหนักแบบสุดขั้ว จนเรียกได้ว่า“โลกร้อน” เปลี่ยนเป็น “โลกเดือด” ซึ่ง“สภาวะโลกร้อน” เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากอากาศใกล้ผิวโลก หรือน้ำในมหาสมุทร จากการเพิ่มขึ้นของ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่สะสมในชั้นบรรยากาศมากเกินความสมดุล ทำให้โลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจาก “รังสีดวงอาทิตย์” ออกไปได้อย่างปกติจึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น
“เอลนีโญ” เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรอุ่นขึ้นผิดปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ส่งผลให้เกิดพายุฝนที่รุนแรงบริเวณชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้งมากผิดปกติในแถบประเทศฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน
ส่วน “ลานีญา” เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับ เอลนีโญ นั่นก็คือ ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกตอนกลางของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรต่ำกว่าปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียสลงไป และลานีญาจะเกิดขึ้นได้ทุก 2-3 ปี และปกติจะเกิดนานประมาณ 9-12 เดือน แต่บางครั้งอาจนานถึง 2 ปี
“ขณะนี้ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกสูงเกินเกณฑ์ไปแล้วประมาณ 1.1 องศาฯ และอาจจะเพิ่มเป็น 2.4-2.7 องศาฯในปลายศตวรรษนี้ เป็นข้อมูลที่ได้จาก อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ส่วนในประเทศไทย พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายพื้นที่จุดใดที่เคยร้อนจัดก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ส่วนฝนจะตกถี่และรุนแรงมากขึ้นในระยะเวลาสั้นๆในปีนี้ แต่ฝนอาจจะเทียบเท่าหรือมากกว่าปีที่แล้ว ดังนั้น การวางแผนบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านความมั่นคงอาหาร ด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ การลดภาวะโลกร้อน ต้องอาศัยความร่วมมือทุกคนและทุกประเทศร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เริ่มจากจุดเล็กๆน้อย เช่น การใช้พลังงานอย่างประหยัด เปิดแอร์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการแยกขยะ ฯลฯ
สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยประเทศไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 พบว่าสูงขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน โดยเดือนมี.ค.อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มเป็น 39 องศาฯ จากเดือนม.ค.ที่อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 34 องศาฯ ส่วน เมียนมา พบว่าอากาศร้อนสุดในรอบ 56 ปี อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 48.2 องศาฯ อินเดีย บังกลาเทศ ต่างก็วิกฤตหนักไม่แพ้กันถึงขึ้นต้องสั่งปิดรร.ลดผลกระทบสำหรับเด็กๆ
หากย้อนไปดูสถิติ 5 ประเทศที่สภาพอากาศร้อนที่สุดในโลก จะพบว่า สหรัฐฯ อุณหภูมิสูงสุด 54.5 องศาฯ ในปี 2563 ,อิหร่านร้อนใกล้เคียงกันที่ 54 องศาฯ ในปี 2560 ,ตามมาด้วยคูเวต อุณหภูมิสูง 53.9 องศาฯ ปี 2565 , อิรัก 53.8 องศาฯ ปี 2559 และปากีสถาน 53.7 องศาฯ ปี2560
ส่วนข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 27.4 องศาฯ ส่วนปี 2566 ประเทศไทยมีอุณหภูมิค่าเฉลี่ยทั้งปี 28.1 องศาฯ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในคาบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-พ.ศ.2563 หรือค่าปกติ 0.7 องศาฯ ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของไทยในรอบ 73 ปี และสูงเท่ากับสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดของประเทศที่เคยตรวจวัดได้เมื่อปี 2562
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนไม่เพียงแต่ทำให้ร้อนจัดเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว และแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ในหลายๆประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ มีทอร์นาโดพัดถล่มกว่า 100 ลูก เช่นเดียวกันกับจีน ที่เจอทั้งน้ำท่วม หิมะตกหนักและพายุลูกเห็บ ส่วนรัสเซีย ก็เจอปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากธารน้ำแข็งที่ละลายเร็วผิดปกติ และอีกหลายประเทศเผชิญกับไฟป่าและอากาศแห้งแล้ง ซึ่งปัจจัยหลักของภัยธรรมชาติที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้นในทุกๆปีก็เกิดจากฝีมือของมนุษย์เรานี่เอง และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือร่วมมือกันอย่างจริงจัง ท้ายที่สุดแล้วผลกระทบเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาเล่นงานตัวเราเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขอบคุณข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา
:กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
:องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก