ยาแก้ปวดรักษ์โลกจากกระดาษรีไซเคิล
จากการศึกษาของเว็บไซต์วิจัยออนไลน์อย่างเดอะ คอนเวอร์เซชั่น (The Conversation) เมื่อปี 2019 ชี้ว่าอุตสาหกรรมยาผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศปริมาณมากไม่ต่างจากอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยอุตสาหกรรมยาผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 52 ล้านตันต่อปี ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ผลิต 46.4 ล้านตันต่อปี แม้ว่าอุตสาหกรรมยาจะมีขนาดเล็กกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ถึง 28%
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากภาควิชาเคมีแห่งมหาวิทยาลัยบาธ (University of Bath) ในสหราชอาณาจักร จึงได้คิดค้นวิธีผลิตยาแก้ปวดสังเคราะห์จากสารประกอบที่พบในต้นไม้ ซึ่งสามารถพบได้ในแผ่นกระดาษที่ทำจากต้นไม้ด้วยเช่นกัน
เปลี่ยนน้ำมันสนเป็นยาแก้ปวด
โดยงานวิจัยของพวกเขาถูกตีพิมพ์ลงบนวารสารด้านวิทยาศาสตร์อย่างเคมซัสเคม (ChemSusChem) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งว่าด้วยการเปลี่ยนสารบี-พาย (ß-pinene) ที่พบในน้ำมันสน ให้เป็นสารตั้งต้นทางเภสัชกรรมสำหรับสังเคราะห์เป็นยาพาราเซตามอล (Paracetamol), ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และสาร 4-แฮป (4-HAP) ที่เป็นสารตั้งต้นของยาหลายชนิด เช่น ยาปิดกั้นเบต้าและยาสูดพ่นโรคหอบหืด
ปัจจุบัน บริษัทยาส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดิบเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตยาแก้ปวดเหล่านี้ แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าน้ำมันสนอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกับโลกมากกว่า โดยโรงงานยาสามารถสกัดน้ำมันสนจากกระดาษเพื่อนำมาสกัดสารบีพายได้ หรือจะใช้น้ำมันสนที่เป็นผลพวงจากการผลิตกระดาษได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งราคาของกระดาษไม่ผันผวนมากเท่ากับราคาน้ำมัน จึงอาจส่งผลให้ราคายาคงที่กว่าที่เป็นอยู่เล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดจะต้องระวังไม่ให้มีสารเคมีอื่น ๆ ปนเปื้อนมาด้วย ซึ่งสามารถใช้อะซิโตนหรือเอธานอลสำหรับสกัดน้ำมันสนออกจากแผ่นกระดาษ แล้วกรองน้ำมันสนที่ได้ ก่อนที่จะให้สารเคมีอื่น ๆ ระเหยออกจากน้ำมันสนไปจนหมด
ประโยชน์ของน้ำมันสนเหลือใช้จากอุตสาหกรรมกระดาษ
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกระดาษยังก่อให้เกิดน้ำมันสนประมาณ 350,000 เมตริกตันต่อไป ซึ่งไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงมองเห็นโอกาสที่จะนำน้ำมันสนเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลิตยาแก้ปวด
“การใช้น้ำมันดิบเพื่อผลิตยานั้นไม่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่มีส่วนในการเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ราคายังผันผวนอย่างมาก เนื่องจากเราต้องพึ่งพาเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ด้วย” - ดร. จอช ทิบเบตส์ (Dr. Josh Tibbetts) ผู้ร่วมวิจัยในภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการสกัดสารบี-พายจากน้ำมันสนสำหรับนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นทำยาแก้ปวดยังมีราคาสูง จึงอาจทำให้ราคายาเหล่านี้สูงตามไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ยากมากกว่าเดิม
ข้อมูลจาก designtaxi และ committee
ภาพจาก pixabay