รีเซต

รู้จัก Web 3.0 Ep.1: ความฝัน หรือความจริง-in-Progress

รู้จัก Web 3.0 Ep.1: ความฝัน หรือความจริง-in-Progress
Tech By True Digital
12 ตุลาคม 2565 ( 09:23 )
84

ในช่วงนี้ หลายคนอาจได้ยินคำว่า “Web 3.0” ถูกหยิบยกขึ้นมาในวงสนทนาแวดวงเทคบ่อยขึ้น และอาจได้ยินหลายคนกล่าวถึงวิวัฒนาการนี้ในฐานะสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรม การใช้ชีวิตประจำวันบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างก้าวกระโดด และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เคยครองตลาดหรือแม้กระทั่งผูกขาดการเป็นเจ้าของโซเชียลแพลตฟอร์มเลยทีเดียว แต่แท้จริงแล้ว Web 3.0 คืออะไรกันแน่ Tech By True Digital ครั้งนี้ นำเสนอ EP. แรกที่จะพาไปทำความรู้จักทุกเรื่องของ Web 3.0 ที่ถูกขนานนามว่าจะเป็นยุคใหม่แห่งโลกของการเชื่อมต่อนี้ ว่าจะเป็นเพียงความหวัง ความฝัน หรือความจริงที่อยู่ระหว่าง Work-in-Progress กันแน่  

 

กว่าจะเป็น Web 3.0

สำหรับสายเทค Web 3.0 อาจมีการพูดถึงมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจสงสัยได้ว่า แล้วอยู่ ๆ ทำไมถึงพูดถึงยุค 3.0 ก่อนหน้านี้คือยุคอะไร และเรากำลังอยู่ในยุคไหนกัน เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของนวัตกรรมต่าง ๆ วิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตนั้นมีการพัฒนามาเป็นระยะ ดังนี้

 

Web 1.0 หรือยุค Static Web เป็นยุคแรกของอินเทอร์เน็ต ที่เป็นเว็บไซต์แบบตอบสนองทางเดียว กล่าวคือ มีระบบให้ข้อมูลข่าวสารบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบการสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) คือ เจ้าของเว็บไซต์เป็นผู้สร้างเนื้อหาบนเว็บที่มีลักษณะแบบคงที่ (Static) ที่เนื้อหาหรือข้อมูลไม่สามารถอัปเดตโดยผู้อื่นได้ นอกจากเจ้าของเว็บหรือผู้สร้าง ในขณะที่ผู้ใช้งานทำได้เพียงเข้าไปอ่านหรือเสพคอนเทนต์ที่ถูกนำเสนอมาเท่านั้น ไม่สามารถโต้ตอบหรือแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาต่าง ๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ได้ ยุคนี้จะมีข้อจำกัดในการสื่อสารและการใช้งานโต้ตอบระหว่างกันของผู้ใช้งานและเจ้าของเว็บ และยังไม่มีการเชื่อมต่อ Database เพื่อเก็บข้อมูลจากการเข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตได้  

 

Website Yahoo ในยุค Web 1.0

ที่มา: https://webtechwebsite.wordpress.com/

 

Web 2.0 หรือยุค Social Web เป็นยุคถัดมาจาก Web 1.0 หรือก็คือยุคปัจจุบันที่เราใช้งานอยู่นั่นเอง โดย Web 2.0 มีระบบให้ข้อมูลข่าวสารบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) ที่ถูกพัฒนาให้ผู้ใช้งานที่ไม่ใช่เจ้าของเว็บหรือผู้สร้าง สามารถสื่อสารและโต้ตอบได้อย่างเป็นอิสระ เนื้อหาบนเว็บมีลักษณะแบบ Dynamic สามารถปรับเปลี่ยนได้ และผู้ใช้งานไม่ใช่คนเสพคอนเทนต์อย่างเดียว แต่ยังสามารถเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ บนเว็บไซต์ สามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานด้วยกันหรือกับเจ้าของเว็บได้ ทั้งยังสามารถสร้างรายได้จากการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ได้อีกด้วย จนเกิดเป็นชุมชนและสังคมออนไลน์หรือที่เรียกกันว่า Social Network โดยในยุคนี้ เป็นยุคที่ให้กำเนิดแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการ “คนกลาง” ต่าง ๆ อาทิ Facebook (Meta), Youtube หรือ Google ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อให้คนใช้งาน ทั้งในแพลตฟอร์มเดียวกันและระหว่างหลายแพลตฟอร์ม โดยช่วยดูแล จัดการและควบคุมคอนเทนต์และข้อมูลทั้งหมดที่อยู่บนแพลตฟอร์มนั้น ๆ และมีการเชื่อมต่อ Database เพื่อเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์มได้

 

Social Network ในยุค Web 2.0 



ความหวัง

เมื่อจุดเปลี่ยนสำคัญของ Web 2.0 คือ การเข้ามาของ “ตัวกลาง” ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อ และรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานไว้บนแพลตฟอร์ม หนึ่งในสิ่งที่กลายเป็นความเสี่ยงใหม่จากวิวัฒนาการนี้จึงเป็นเรื่องของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ที่อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลจากผู้ให้บริการ หรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) ที่อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยในรูปแบบที่เจ้าของข้อมูลไม่ได้ยินยอม เนื่องจากเจ้าของข้อมูลที่นำไปเผยแพร่บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นยังไม่สามารถนำข้อมูลของตนเผยแพร่โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์ม “ตัวกลาง” ที่ทำหน้าที่จัดการข้อมูลเหล่านี้ได้ ความหวังที่เกิดขึ้นในอีกก้าวหนึ่งของ Web 3.0 จึงเป็นการมอบสิทธิการดูแลและจัดการข้อมูลบนโลกออนไลน์ให้กับเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการกระจายอำนาจการเป็นเจ้าของ การใช้งาน และการจัดการข้อมูลเหล่านั้นนั่นเอง

 

ความจริง-in-Progress

ในปัจจุบัน Web 3.0 ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา (Work-in-Progress) ที่ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอนในการเริ่มต้นใช้งาน และยังมีนิยามที่แตกต่างกันออกไปถึงคอนเซ็ปต์และความเป็นไปได้ของอินเทอร์เน็ตยุคใหม่นี้ แต่หลักการสำคัญของ Web 3.0 ที่ปรากฏร่วมในหลายแนวคิด คือ 1) การกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง 2) การขับเคลื่อนด้วย AI และ 3) การเป็น Semantic Web โดยมีรายละเอียดโดยย่อ ดังนี้

 

1) การกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง (Decentralized Web) ศูนย์กลางที่ว่าก็คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เป็น “ตัวกลาง” ที่ควบคุมดูแลข้อมูลของเราอยู่ อย่างที่เรากำลังใช้ชีวิตบน Social Netwotk ในปัจจุบัน โดยการใช้งานบน Web 3.0 นั้นจะทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องใช้บริการผ่านเซิร์ฟเวอร์ของแพลตฟอร์มใด ๆ เลย เป็นการมอบสิทธิให้ผู้ใช้งานอย่างแท้จริงที่จะสามารถควบคุมข้อมูลและอัตลักษณ์ของตนเองในโลกดิจิทัล เพราะหลักการทำงานแบบ Decentralized Web ของ Web 3.0 จะทำงานผ่านระบบ Blockchain ที่เป็นการจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ซึ่งสร้างขึ้นจากแนวคิดหลัก 2 ประการ คือ การเข้ารหัส (Encryption) ซึ่งคือการที่ข้อมูลที่เราเก็บไว้ใน Blockchain สามารถเข้าถึงได้โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แม้ว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ที่เป็นของบุคคลอื่น เช่น รัฐบาลหรือองค์กรก็ตาม อีกแนวคิดคือการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed Computing) ซึ่งหมายถึงเมื่อไฟล์ข้อมูลใดถูกแชร์ในคอมพิวเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก หากสำเนาใดสำเนาหนึ่งไม่ตรงกับสำเนาอื่น ๆ ทั้งหมด แสดงว่าข้อมูลในไฟล์นั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าไม่มีใครอื่นนอกจากผู้ที่ควบคุมข้อมูลจะสามารถเข้าถึงหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลหรือเครือข่ายแบบกระจายทั้งหมด 

 

Centralized vs. Decentralized จากหนังสือ Token Economy โดย Shermin Voshmgir

ที่มา: https://blockchainhub.net

 

 

เมื่อนำทั้ง 2 แนวคิดของการทำงานของระบบ Blockchain มารวมกันจึงหมายถึงว่าข้อมูลจะถูกจัดเก็บและควบคุมโดยบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลเท่านั้น แม้ว่าจะถูกจัดเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลหรือเจ้าของแพลตฟอร์ม ก็ไม่มีใครสามารถเข้าถึงหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้หากไม่มีรหัสสำหรับการเข้ารหัสที่พิสูจน์ได้ว่าพวกเขาเป็นเจ้าของ และแม้ว่าจะถูกปิดหรือถอดเซิร์ฟเวอร์ออก ข้อมูลก็ยังสามารถเข้าถึงได้บนคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งจากหลายร้อยเครื่องบนโลกนี้

 

2) การขับเคลื่อนด้วย AI (AI-Driven Services) ว่ากันว่า AI เปรียบเสมือนระดับชั้นสติปัญญาของ Web 3.0 ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะเข้ามาประมวลผลให้เป็นไปตามการใช้งานจริง ๆ ที่ดียิ่งขึ้นกว่า Web 2.0 ในปัจจุบัน เพราะ AI ในยุคของ Web 3.0 จะสามารถ ‘เข้าใจ’ และวิเคราะห์ ทั้งภาษาที่เป็นความหมายและอารมณ์ที่อยู่ซ่อนระหว่างบรรทัดได้แม่นยำและถ่องแท้มากขึ้นจากชุดข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป ทั้งนี้เนื่องมาจากการสื่อสารระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร (Machine-to-Machine) และการตัดสินใจที่ไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์มาแทรกแซง ซึ่งจำเป็นอย่างมากใน DApps หรือ Decentralized Application แอปพลิเคชันกระจายศูนย์ที่สร้างขึ้นบนเครือข่ายเพื่อทำงานต่าง ๆ แบบไร้ศูนย์กลาง ซึ่งมีการตรวจสอบความถูกต้องกันเองด้วยระบบ Proof of Work ที่จะถูกใช้บน Web 3.0 

 

โครงสร้าง Centralized App กับ Decentralized App (DApps)

ที่มา: https://www.maketecheasier.com/

 

ซึ่งความอัจฉริยะของอัลกิริธึมของ AI ใน Web 3.0 นั้นมีความสามารถในขั้นที่เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ทุกครั้งหรือสนทนาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนขึ้นจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ทำให้ AI ในโลกนี้จะอัจฉริยะมากขึ้น จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อเรียนรู้มากขึ้นในแต่ละครั้ง AI รุ่นต่อมาอาจจะมาพร้อมพฤติกรรมที่เหมือนมนุษย์เลยก็เป็นได้ ซึ่งความฉลาดของ AI จะส่งผลให้การแนะนำเนื้อหาหรือคอนเทนต์จากการใช้ AI วิเคราะห์นั้นมีความแม่นยำ เนื้อหามีความปลอดภัย ปราศจากอคติจากคน และเกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานมากขึ้น  ซึ่ง AI อันชาญฉลาดบน Web 3.0 นี้มาพร้อมกับแนวคิดถัดไปที่เป็นใจความสำคัญของ Web 3.0 ที่ขับเคลื่อนด้วย AI คือ

 

3) Semantic Web Web 3.0 ซึ่งเคยถูกเรียกว่า Semantic Web จาก Tim Berners-Lee ผู้คิดค้น World Wide Web ในยุค Web 1.0 เพื่ออธิบายแนวคิด Machine-to-Machine Internet ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตที่มีความอัจฉริยะและทำงานได้อย่างอัตโนมัติมากขึ้น Web 3.0 จะสามารถรองรับเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่าง Machine Learning, Big Data, AI และ Blockchain ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ มีความสามารถในการวิเคราะห์ การทำงาน การถอดโค้ด และการทำงานรูปแบบอื่น ๆ จะมีความฉลาดมากขึ้น ใกล้เคียงมนุษย์และสามารถถ่ายโอนข้อมูลระหว่างระบบ คน และอุปกรณ์ IoT ได้แบบอัตโนมัติ ทำให้สร้างเนื้อหาหรือแนะนำคอนเทนต์ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ

 

Machine-to-Machine Internet

 

จากวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่แรกเริ่มจนมาถึงยุคที่เรากำลังฝันถึงการที่อินเทอร์เน็ตจะไร้ “ตัวกลาง” และการจะได้เป็นเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริงของ Web 3.0 ใน EP. ถัดไป Tech By True Digital จะพาไปดูความจริงอีกด้านของ Web 3.0 ด้วยเหตุที่เพราะว่ายัง Work-in-Progress อยู่นี่เอง จึงทำให้มีคำถามอีกมากมายถึงความเป็นไปได้ และความที่จะถูกใช้งานได้ ตามหลักการของ Web 3.0 รวมถึงมีอะไรที่เราอาจยังคาดไม่ถึงในยุคใหม่แห่งโลกของการเชื่อมต่อนี้

 

----------------------------------

 

อ้างอิง:



 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง