รีเซต

ปี 2567 พบเสือโคร่งในป่าไทยกว่า 200 ตัว ได้รับยกย่องเป็น Champion ด้านอนุรักษ์ฯ

ปี 2567 พบเสือโคร่งในป่าไทยกว่า 200 ตัว ได้รับยกย่องเป็น Champion ด้านอนุรักษ์ฯ
TNN ช่อง16
31 กรกฎาคม 2567 ( 13:48 )
21

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการอนุรักษ์และการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งไทย ในฐานะที่ไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีถิ่นอาศัยของเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ และด้วยเสือโคร่งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งรัฐบาล โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย มุ่งขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูจำนวนประชากรเสือโคร่งตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) มาอย่างต่อเนื่อง 


สะท้อนเป็นผลสำเร็จให้ปี 2567 นี้ ไทยได้รับการยกย่องเป็น Champion ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมตั้งเป้าหมายผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เปิดเผยผลการประชุมใน“วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” (29 กรกฎาคม 2567) ถึงการประชุมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เสือโคร่ง (Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference: SFTLC) ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน รายงานถึงความสำเร็จของไทยในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ควบคู่กับการเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง 


โดยรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับบูรณาการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศ ส่งผลให้ในปี 2567 ไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179 – 223 ตัว เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่สำรวจพบ 148 – 149 ตัว เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งผู้ร่วมการประชุมชื่นชมประเทศไทยและยกย่องให้เป็น “แชมป์เปี้ยนของการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พร้อมเห็นว่าสามารถนำไทยมาเป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับการดำเนินงานของประเทศถิ่นอาศัยเสือโคร่งประเทศอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันไทยเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577 สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) กำหนดเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) รักษาและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองพื้นที่ในกลุ่มป่าตะวันตก 2) เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการพื้นที่ คุ้มครองป้องกันพื้นที่และเพิ่มศักยภาพของระบบการติดตามตรวจวัดประชากรในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และ 3) เพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก


ทั้งนี้ เสือโคร่ง (Royal Tiger) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินเนื้อเป็นอาหาร รักสันโดษ มักออกล่าเหยื่อตอนกลางคืน และถือเป็นผู้ควบคุมจำนวนประชากรสัตว์กินพืชในผืนป่าไม่ให้มีจำนวนมาก ซึ่งสามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าได้เป็นอย่างดี โดยในปี พ.ศ. 2553 มีการประชุมด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Tiger Summit) ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย และได้กำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” (Global Tiger Day) เพื่อให้ทั่วโลกคำนึงถึงการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่ง การอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน


“จำนวนที่เพิ่มขึ้นของเสือโคร่งในไทย นับว่าเป็นสัญญาณดีต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานของทุกภาคส่วน ที่สะท้อนความสำเร็จและการยอมรับจากนานาประเทศ โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสนับสนุนการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอย่างต่อเนื่อง พร้อมเชื่อมั่นว่า ไทยจะก้าวสู่ความสำเร็จตามแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นผู้นำและเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคได้อย่างแข็งแกร่ง” นายชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง