รีเซต

เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” ที่ระดับ 34.01 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” ที่ระดับ 34.01 บาท/ดอลลาร์
TNN ช่อง16
28 มีนาคม 2568 ( 08:19 )
7

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.83 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.05 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ)

เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.80-33.94 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างทะลุโซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ออกมาดีกว่าคาด อาทิ คาดการณ์ครั้งที่ 3 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า ที่ออกมา +2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ที่ลดลงสู่ระดับ 1.856 ล้านราย 

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยลดสถานะ Long USD เพิ่มเติม นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้น ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา 

แนวโน้มของค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง รับอานิสงส์การปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ของราคาทองคำ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจกล่าวได้ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways Up ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ได้ จนกว่าตลาดจะเห็นความชัดเจนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ 

โดยเฉพาะในฝั่งไทย ว่าประเทศไทยจะเสี่ยงเผชิญการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff) หรือนโยบาย Non-Tariff อื่นๆ หรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สงครามการค้ารอบแรกในปี 2018 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways 

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่แม้จะทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นไทย แต่เราคงกังวลว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และอาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของค่าเงินบาทได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่า ในระยะหลัง นักวิเคราะห์ต่างชาติเริ่มปรับมุมมองต่อหุ้นไทยดีขึ้นมาก เช่น ปรับมุมมองเป็น “Overweight” ทำให้เราคาดว่า แรงขายหุ้นไทยอาจไม่ได้สูงมากนัก เหมือนช่วงก่อนหน้า และนักลงทุนต่างชาติ อาจใช้จังหวะการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยที่อาจเกิดขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ หรือ Buy on Dip ได้ 


อนึ่ง ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย บรรดาผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ซึ่งจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมานั้น เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัวได้ถึง +0.10%/-0.22% ในช่วงหลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที ทำให้เราขอย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงดังกล่าว

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง