รีเซต

'ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์' ฝีมือจีน ทดลองคืบหน้า มุ่งสู่เป้าหมายเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน

'ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์' ฝีมือจีน ทดลองคืบหน้า มุ่งสู่เป้าหมายเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน
Xinhua
14 เมษายน 2566 ( 00:56 )
85
'ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์' ฝีมือจีน ทดลองคืบหน้า มุ่งสู่เป้าหมายเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน

เหอเฝย, 13 เม.ย. (ซินหัว) -- ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ (EAST) ของจีนบรรลุการปฏิบัติการกักพลาสมาระดับสูง ณ สถานะคงตัว เป็นระยะเวลา 403 วินาที หลังจากยิงพลาสมามากกว่า 120,000 ครั้ง เมื่อวันพุธ (12 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญสู่การพัฒนาเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน และยกระดับสถิติโลกจากเดิม 101 วินาที ซึ่งดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ของจีนทำไว้ในปี 2017

เป้าหมายสูงสุดของดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ของจีน ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันฟิสิกส์พลาสมา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (ASIPP) ในนครเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน คือการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเหมือนดวงอาทิตย์ด้วยการใช้สสารอันอุดมสมบูรณ์ในทะเลเพื่อผลิตพลังงานสะอาดอย่างมีเสถียรภาพ

ซ่งอวิ๋นเทา ผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลาสมา เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่านัยสำคัญหลักของความก้าวหน้าครั้งนี้อยู่ที่การทำให้พลาสมาเข้าสู่สภาวะประสิทธิภาพสูง (H-mode) โดยอุณหภูมิและความหนาแน่นของอนุภาคเพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างปฏิบัติการข้างต้น ซึ่งวางรากฐานสู่การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชันในอนาคตและลดต้นทุน

อนึ่ง ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่เกือบไม่จำกัดบนโลก ซึ่งแตกต่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่มีอยู่อย่างจำกัดและส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ส่วนพลังงานฟิวชันนั้นมีความปลอดภัยและสะอาดมากกว่า จึงกลายเป็นแนวคิด "พลังงานสูงสุด" แห่งอนาคตของมนุษยชาติ

ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ที่ออกแบบและพัฒนาโดยจีน ซึ่งเริ่มต้นเดินเครื่องปี 2006 ถือเป็นแพลตฟอร์มทดสอบแบบเปิดสำหรับคณะนักวิทยาศาสตร์จีนและนานาชาติ เพื่อดำเนินการทดลองและวิจัยเกี่ยวกับปฏิกิริยาฟิวชัน

ปัจจุบันการออกแบบทางวิศวกรรมของเตาปฏิกรณ์ทดสอบวิศวกรรมฟิวชันแห่งประเทศจีน (CFETR) ในอนาคต ซึ่งจะกลายเป็น "ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์" รุ่นถัดไป ได้เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีเป้าหมายก่อสร้างเตาปฏิกรณ์สาธิตปฏิกิริยาฟิวชันตัวแรกของโลก

ทั้งนี้ สถาบันฟิสิกส์พลาสมาของจีนยังร่วมมือด้าน "ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์" กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ของไทยภายใต้โครงการเตาปฏิกรณ์โทคาแมค "ไทยแลนด์ โทคาแมค-1" หรือทีที-1 (TT-1) ซึ่งปัจจุบันถูกจัดส่งถึงไทยและอยู่ระหว่างติดตั้งและทดสอบเดินเครื่องในไทย โดยมีทีมเจ้าหน้าที่จีนเดินทางมาปฏิบัติงานสนับสนุนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง