รีเซต

งานศพสูงสุด 56% คลัสเตอร์ชุมชนเพียบ สธ.เน้นย้ำจัดงานปลอดภัย 3 ป

งานศพสูงสุด 56% คลัสเตอร์ชุมชนเพียบ สธ.เน้นย้ำจัดงานปลอดภัย 3 ป
ข่าวสด
16 มีนาคม 2565 ( 16:23 )
73
งานศพสูงสุด 56% คลัสเตอร์ชุมชนเพียบ สธ.เน้นย้ำจัดงานปลอดภัย 3 ป

ข่าววันนี้ 16 มี.ค.2565 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย นางประเสริฐ ท้วมมา ประธาน อสม. อ.เมือง จ.นนทบุรีร่วมแถลงโครงการ ชุมชนปลอดภัย จัดงานปลอดโควิด ด้วยมาตรการ COVID Free Setting

 

นพ.สุวรรณชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อยังมากกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน ยังพบการระบาดแบบคลัสเตอร์จากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2564 - 15 มี.ค. 2565 พบคลัสเตอร์จากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนในชุมชน พบสูงสุดช่วง ก.พ. พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ จ.กาญจนบุรี สัดส่วนประเภทกิจกรรม พบในงานศพสูงสุด 56% งานแต่งงาน 23% งานบุญ 16% งานบวช 5%

 

 

สอดคล้องกับการสำรวจอนามัยโพล วันที่ 1-15 มี.ค. 2565 การพบเห็นเหตุการณ์หรือความเสี่ยงในบริเวณที่พักอาศัย เกือบ 1.8 หมื่นคน โดย 27% พบการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชนอย่างแออัด ไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากาก และ 24% พบการรวมกลุ่ม ตั้งวงดื่มเหล้า หรือเล่นการพนัน แสดงว่ามีการละเลยมาตรการในการจัดงาน ทั้งนี้ สามารถจัดงานได้ หากทำตามมาตรการ COVID Free Setting เพื่อความปลอดภัยจากโควิด

 

"ความเสี่ยงการแพร่โควิดจากการกิจกรรมในชุมชน พบพฤติกรรมสำคัญคือ 1.การรวมกลุ่มคนจำนวนมากที่แออัด มาจากหลากหลายพื้นที่ แต่ละคนมีความเสี่ยงต่างกัน 2.ดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเมาสูญเสียสติเพิ่มโอกาสมีพฤติกรรมเสี่ยง และ 3.มาตรการส่วนบุคคล ย่อหย่อน อาจประมาทเห็นคนกันเองน่าจะปลอดภัย เช่น กินอาหารร่วมกัน ตะโกนเชียร์ ร้องเพลง ตั้งวงเล่นพนัน ถอดหน้ากากเป็นระยะในการจัดงาน จึงต้องเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด

 

เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงอาการจากสายพันธุ์โอมิครอนและรับวัคซีน คนติดเชื้ออาจไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก การจัดงานในชุมชนให้เกิดความเรียบร้อย ปลอดภัยจากโควิด มาตรการทางสังคมที่มีกลไกของชุมชน ทั้ง อสม. ผู้นำชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญทำให้พื้นที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น " นพ.สุวรรณชัย ระบุ

 

 

ขณะที่ ดร.อัมพร กล่าวว่า แนวทางจัดงานปลอดภัยใช้วิธี 3 ป คือ 1.ประเมิน พิจารณาจากความเสี่ยงจัดงาน 4 เรื่อง คือ 1) ความหนาแน่นคนร่วมงาน ระยะห่าง 2) กิจกรรมในงานที่ต้องใช้เสียง 3) การเปิดหน้ากาก เช่น กินข้าว ร้องเพลง เปิดหน้าถ่ายรูป และ 4) การระบายอากาศ หากพบ 2 ใน 4 ถือว่างานมีความเสี่ยง นำมาสู่ 2.ปรับ ใช้หลักเกณฑ์ COVID Free Setting 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม เจ้าภาพหรือออแกไนซ์เลือกสถานที่ระบายอากาศดี ลดจุดเสี่ยงต่างๆ ทำความสะอาดจุดเสี่ยง เพิ่มอุปกรณ์ล้างมือให้เพียงพอ

 

" กิจกรรมที่เสี่ยงอาจต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสม หรือจำกัดจำนวนคนเข้าร่วม ส่วนคนจัดงานและคนร่วมงาน เน้นมีความปลอดภัย รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ประเมินตนเองว่าเสี่ยงหรือไม่ หรือใช้ ATK ตรวจ หากไปร่วมงานให้ใส่หน้ากาก พกแอลกอฮอล์เจล ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน หลังร่วมงานเฝ้าระวังตัวเอง 10 วัน และ 3.ปฏิบัติ ผู้จัดงาน ประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID 2Plus ว่าสถานที่กิจกรรมเป็นอย่างไร ถ้าผ่านก็เริ่มจัดงาน หรือหากมีข้อสงสัยจัดอย่างไร โทร 02-590-4000 กด 1

 

 

เมื่อประเมินแล้วว่าจัดได้ปลอดภัยตามประเมินก็แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแจ้งหน่วยปฏิบัติการในตำบยลทราบว่าจัดงาน ก็จะได้นำ อสม.มาช่วยกันกำกับให้เกิดการปฏิบัติก็จะจัดงานได้ปลอดภัย ทั้งนี้ แม้การประเมินการจัดงานไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย แต่ขอความร่วมมือในการประเมิน เพราะถือเป็นความรับผิดชอบ " ดร.อัมพรกล่าว

 

ส่วนนางประเสริฐ กล่าวว่า ชุมชนที่ตนเป็น อสม. มีทั้งงานบวช งานแต่ง งานทำบุญบ้าน ที่พบมากคืองานศพ ส่วนใหญ่จะประสาน อสม.มาช่วยดูแลผ่านทางวัด หรือผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะมีไลน์กลุ่มในการแจ้ง อสม.ในการมาช่วยดูแลการจัดงาน เช่น การคัดกรอง ซึ่งงานแต่งงานจะค่อนข้างทราบจำนวนแขก แต่งานศพไม่สามารถบอกจำนวนแขกจะเยอะหรือน้อย ก็จะตั้งจุดทางเข้าที่จัดงานอย่างน้อย 2 จุด

 

หากมาจำนวนมากก็ 3 จุด เตรียมหน้ากาก เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ สติกเกอร์ และสมุดลงทะเบียน เพื่อติดตามหลังจัดงานว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ สำหรับภายในงานจะมีมาตรการป้องกันตนเอง ไม่เปิดหน้ากากคุยกับแขก จัดโต๊ะที่นั่งเว้นระยะห่าง ไม่ให้รับประทานอาการในงาน โดยจัดเป็นเซตกลับไปรับประทานที่บ้าน ส่วนผู้จัดงานที่ไม่ให้ความร่วมมือยังไม่พบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง