เปิดบทลงโทษ "ผู้ป่วยฝีดาษลิง" หนีการรักษา หลังอนุทินประกาศตามตัว
เปิดบทลงโทษ พ.ร.บ.โรคติดต่อ "ผู้ป่วยฝีดาษลิง" หนีการรักษา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ระบุว่า ได้รับทราบกรณี ชาวไนจีเรียที่ติดเชื้อฝีดาษลิง เข้ารักษาในโรงพยาบาล จ.ภูเก็ต แล้วหลบหนีออกจาก รพ.แล้ว ขณะนี้ตำรวจอยู่ระหว่างการตามล่า พร้อมขึ้นรูปหน้าของผู้ป่วยที่หลบหนีไป ซึ่งมองว่าพฤติกรรมเช่นนี้ แย่มากและเป็นพฤติกรรมไม่ดี
นายอนุทินยืนยันว่ากำลังเร่งติดตาม โดยต้องจับกุมตัวให้ได้ และจะขึ้นรูปตามหาทั่วประเทศ โดยจะมีบทลงโทษตามกฎหมายทุกอย่างที่มี รวมทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ขณะเดียวกันอาจมีการเนรเทศออกจากประเทศไทย
ส่วนการปูพรมป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยรายดังกล่าวนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า จากข้อมูลของอธิบดีกรมควบคุมโรครายงานมาเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ทราบว่าได้มีการติดตามคนสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายดังกล่าวมากักตัวและตรวจเช็คแล้วไม่พบการติดเชื้อ และย้ำว่าตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่าไม่ได้ติดกันง่ายๆ แต่จะต้องเฝ้าระวัง
"โรคฝีดาษวานร" หรือ "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
เมื่อวันที่ (9 ก.ค.65) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 มีรายละเอียดดังนี้
โดยที่เป็นการสมควรให้มีการประกาศให้ "โรคฝีดาษวานร" หรือ "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง การป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ โรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (56) ของข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ.2562
“(56) โรคฝีดาษวานรหรือโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลือง บวมโต เจ็บคอ มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลําตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน หรือขา บางตุ่มอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า”