รีเซต

“สภาพัฒน์” ชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ลุกลาม ฉุดเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเป้า

“สภาพัฒน์” ชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ลุกลาม ฉุดเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเป้า
มติชน
22 มีนาคม 2565 ( 13:36 )
44

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี2565” ในงานสัมมนา สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพ-ปริมณฑล” ซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2564 ฟื้นตัวในระดับที่น่าพอใจภายใต้สถานการณ์การระบาดองโรคโควิดสายพันธ์ุเดลต้าที่กลับมารุนแรงเป็นระลอก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐและการขยายตัวในเกณฑ์สูงของภาคการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจทั้งปีกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ 1.6% สูงกว่าการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ฯ และของหลายหน่ายงานที่คาดว่าจะขยายตัว 1%

 

นายวิชญายุทธ กล่าวว่า ส่วนในด้านการใช้จ่าย การขยายตัวทั้งปี มีปัจจัยสนับสนุนจากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และการขยายตัวสูงของการส่งออกสินค้า ขณะที่การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ และการท่องเที่ยวยังมีข้อจำกัดในการขยายตัวต่อเนื่อง จากข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของโควิด ในด้านการผลิต ขยายตัวในเกณฑ์ดีสาขาอุตสาหกรรม การเกษตร การก่อสร้าง การเงิน บริการสุขภาพ แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวจากปี2563 แต่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งปียังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดในปี 2562 หรือกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันหรือ k shape recovery

 

ทั้งนี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าคาดการณ์ของราคาน้ำมัน ราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก รวมถึงสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ลุกลามไปมากกว่าคาดการณ์ ส่วนใหญ่ถูกระบุไว้เป็นปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีนัยสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง ซึ่งสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง คาดว่ากลางปีนี้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนน่าจะยุติได้ แต่ว่าสหรัฐ-รัสเซียที่มีการแซงก์ชั่นอาจจะยืดเยื้อทั้งปี

 

“ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทางตรงคือการค้าส่งออกสินค้าไทย-รัสเซียและไทย-ยูเครน แต่คงไม่มากเพราะส่งออกไปค่อนข้างน้อย แต่ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจะมีมากขึ้นเพราะปัจจุบันเราพึ่งพิงนักท่องเที่ยวยุโรป เพราะจีนยังไม่เข้ามา รวมถึงราคาพลังงานและน้ำมันที่กระทบทางอ้อม ถ้าเฉลี่ยราคาน้ำมันทั้งปีอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กระทบต่อจีดีพีลดลง 0.5% สิ่งที่กังวลคือผลกระทบจะผ่านมาทางเศรษฐกิจโลก ทั้งเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ ” นายวิชญายุทธกล่าว

 

นายวิชญายุทธกล่าวว่า ก่อนเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทางสภาพัฒน์ฯคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี2565 จะขยายตัว 3.5-4.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.5-2.5% มีปัจจัยสนับสนุนคือ 1.การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศตามแนวโน้มลดลงของความรุนแรงของโควิดสายพันธ์ุเดลต้า รัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว มีเปิดรับนักท่องเที่ยงต่างชาติและยกเลิกมาตรการคุมการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 4 แสนคนและช่วง3 เดือนแรกของปีนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องและคาดหวังเดือนพฤศจิกายนนี้อาจจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามา

 

3.การขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดีจะสนับสนุนให้ภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และ4.กรอบเม็ดเงินงบประมาณด้านการลงทุนของภาครัฐ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และพรก.เงินกู้

 

นายวิชญายุทธกล่าวว่า ภายใต้ปัจจัยบวกยังมีปัจจัยเสี่ยง 1.การกลายพันธ์ุโอมิครอน 2.ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ได้แก่ ความเสี่ยงที่ราคาสินค้า เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลักเพิ่มขึ้นแรงกว่าคาดการณ์ นำไปสู่การชะลอตัรุนแรงของเศรษฐกิจ ,ปัญหาอสังหาริมทรัพย์และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จีน-ไต้หวัน อิสราเอล-อิหร่าน

 

3.ปัญหาอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทานโลกที่อาจมีความยือเยื้อและทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4.ข้อจำกัดด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ โดยเฉพาะหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในะระยะต่อไป และ5.ระดับราคาสินค้า เงินเฟ้อ ในประเทศ ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์ ตามแรงกดดันเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง