รีเซต

สรุป 3 ประเด็นสำคัญควบรวม True - Dtac จากปาก CEO : บริการ บริหาร และอนาคต

สรุป 3 ประเด็นสำคัญควบรวม True - Dtac จากปาก CEO : บริการ บริหาร และอนาคต
TNN ช่อง16
3 มีนาคม 2566 ( 14:11 )
111
สรุป 3 ประเด็นสำคัญควบรวม True - Dtac จากปาก CEO : บริการ บริหาร และอนาคต

TNN Tech พาถอดมุมมองของ คุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เกิดจากควบรวมกิจการครั้งสำคัญในวงการโทรคมนาคมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ในด้านผลประโยชน์ลูกค้า ลักษณะการบริหารงาน และวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจในอนาคต


การบริการของ True | Dtac


ในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวเมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา คุณมนัสส์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “บอกได้เลยนะครับว่า เรื่องค่าใช้จ่าย ผู้บริโภคไว้วางใจได้ เรามุ่งจะสร้างคุณค่าให้กับแพ็กเกจมากกว่า” ซึ่งเป็นการย้ำพันธกิจที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการครั้งสำคัญในระดับภูมิภาคว่าต้องการเติมเต็มการบริการให้กับลูกค้าทั้ง 2 ค่าย 


โดยสร้างการผนึกกำลัง (Synergy) ในด้านต่าง ๆ ทั้งความครอบคลุมของสัญญาณ ที่ดีแทค (Dtac) เดิมมีสัญญาณบนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และทรู (True) ที่มีย่านความถี่ 2,600 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ก็สามารถใช้สัญญาณข้ามหากัน (Roaming) ได้แล้ว รวมไปถึงศูนย์บริการของทั้ง 2 ค่าย ที่ยังคงมีอยู่เพื่อรองรับการดูแลลูกค้าเช่นเดิม และสิทธิประโยชน์ที่ยังคงมีอยู่ต่อไปเช่นกัน


การบริหารของ True | Dtac


คุณมนัสส์ กล่าวว่าการบริหารของทั้ง 2 บริษัท จะยังคงอยู่ในลักษณะการแยกบริหารและการตลาดแบรนด์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และเสริมความเชื่อมั่นว่าการบริหารจะมีเป้าหมายการทำงานเพื่อรองรับฐานลูกค้าใหม่ที่ใหญ่ถึง 55 ล้านเลขหมาย ซึ่งมาจากของทรู 33.8 ล้าน และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย พร้อมผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์  5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย และในส่วนองค์กรก็จะยังคงควบรวมพนักงานเข้าด้วยกันโดยไม่มีการปลดพนักงาน (Lay Off) ตามกระแสบริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศในตอนนี้ 

เป้าหมายการควบรวม True | Dtac ในอนาคต


“สิ่งที่เรามุ่งมั่นมีภารกิจที่เราจะสร้าง Telecom Technology Company ขึ้นมาครับ” 

คุณมนัสส์ กล่าวตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ 


บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กลายเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้ได้ทรัพยากรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 2,600 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) มาใช้งาน พร้อมจุดเด่นที่ความหน่วงสัญญาณ (Latency) ต่ำ เปิดทางการทำบริการหรือสินค้าที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (IoT: Internet of Things) หรือการเชื่อมต่อกับโครงข่ายซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตภายใต้ธงบริษัทเทคโนโลยีโทรคมนาคม (Telecom Technology Company) ต่อไป


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง