รีเซต

สุดทึ่ง !! พบสารเพิ่มประสิทธิภาพรักษามะเร็ง ในพืชพื้นเมืองออสเตรเลีย

สุดทึ่ง !! พบสารเพิ่มประสิทธิภาพรักษามะเร็ง ในพืชพื้นเมืองออสเตรเลีย
TNN ช่อง16
28 พฤศจิกายน 2564 ( 22:24 )
124

นักวิจัยค้นพบคุณสมบัติอันน่าทึ่งของจากพืชดอกที่มีชื่อว่า พุ่มไม้อีมู (Emu bush) ซึ่งยางไม้ของพืชชนิดนี้มีสารเคมีบางชนิดที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่ทนต่อยาเคมีบำบัด !!

ที่มาของภาพ ANPSA

 


พุ่มไม้อีมู (Emu bush) เป็นพืชดอกท้องถิ่นสามารถพบได้ทั่วไปในออสเตรเลีย โดยสายพันธุ์ที่จะกล่าวถึงนั้นมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Eremophila galeata (อีเรโมฟิลา) แต่เดิมชาวพื้นเมืองในออสเตรเลียจะใช้พืชชนิดนี้ผสมกับพืชชนิดอื่น ๆ เพื่อทำเป็นไส้ยาสูบสำหรับงานเฉลิมฉลอง เพราะเชื่อว่าเมื่อสูบแล้วจะช่วยให้ปลอดจากโรคภัย นอกจากนี้ยังใช้ดอกของมันมาตำเป็นยาพอกแผลอีกด้วย


แต่บัดนี้พุ่มไม้อีมูไม่ใช่แค่ไม้ดอกสำหรับการเฉลิมฉลองอีกต่อไป แต่กลับสร้างความประหลาดใจให้กับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก จากการศึกษาพบว่ามันมีส่วนยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งดื้อต่อยาเคมีบำบัด ทำให้ยาเคมีบำบัดสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ที่มาของภาพ North Queensland plants

 


ปัจจุบันมะเร็งหลายชนิดมีโอกาสดื้อต่อยาเคมีบำบัดได้ โดยการปรับระบบทางชีวเคมีในเซลล์เร่งการขับยาเคมีออกจากเซลล์ (เนื่องจากยาจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายได้ หากเซลล์สามารถกำจัดยาออกได้รวดเร็ว พวกมันก็จะยังรอดและเพิ่มจำนวนต่อไปได้นั่นเอง) คล้ายกับการดื้อในแบคทีเรียที่สร้างกลไกป้องกันตนเองจากยาปฏิชีวนะ


นักพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนเผยว่า ยางจากพุ่มไม้อีมูประกอบด้วยสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ปริมาณมาก สารชนิดนี้มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างโปรตีนที่เซลล์มะเร็งใช้ขับยาเคมีบำบัด (เรียกว่า Efflux pump protein) ส่งผลให้ยาเคมีบำบัดยังคงมีความเข้มข้นสูงในเซลล์ และเพิ่มโอกาสทำลายเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น




จากการทดลองในเซลล์มะเร็งลำไส้ชนิด HT29 พบว่า เมื่อใช้สารสกัดจากยางไม้ของพุ่มไม้อีมู ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดแล้ว เซลล์มะเร็งลำไส้มีโปรตีนขับยาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ความเข้มข้นของยาในเซลล์มะเร็งสูงขึ้นอีกด้วย


ในอนาคตนักวิจัยคาดว่าจะนำยางจากพุ่มไม้อีมูนี้มาประยุกต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งหลายชนิดที่พบภาวะดื้อต่อยาเคมีบำบัด และอาจนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ โดยใช้หลักการคล้ายกันคือเพื่อยับยั้งการขับยาของแบคทีเรียด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Science Alert


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง