สรุปมหากาพย์ล้มดีลซื้อทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์
ในวันที่ 31 มกราคม อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เริ่มเข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ (Twitter) อย่างเงียบเชียบ ก่อนที่วันที่ 24 มีนาคม อีลอน มัสก์ จะทำโพล (Poll) .ในทวิตเตอร์ (Twitter) ว่าอยากให้เขาเข้าซื้อบริษัทหรือไม่เพียง 10 วัน ให้หลังข่าวการถือหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม และทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่นับได้ว่าเป็นข่าวคราวการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีที่วุ่นวายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
เดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาแห่งการเจรจาอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เข้าถือครองหุ้นถึง 9.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งสัญญาณอันตรายไปยังบอร์ดผู้ถือหุ้น แม้ว่าที่ประชุมจะเชิญเขาเข้าร่วมบอร์ด แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธในภายหลังที่มีท่าทีเข้าร่วมในตอนแรก และในวันที่ 14 เมษายน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เสนอซื้อทวิตเตอร์ (Twitter) ทั้งบริษัทด้วยมูลค่า 4.1 หมื่นล้านเหรียญ หรือเกือบ 1.6 ล้านล้านบาท ส่งผลให้วันถัดมา บริษัทตัดสินใจทำพอยซั่น พิล (Poison Pill) ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในตลาดอย่างบ้าคลั่งเพื่อลดโอกาสการโดนเข้าซื้อ (Takeover) แต่หลังการเจรจากันกว่า 10 วัน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็บรรลุข้อตกลงมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท พร้อมหลักฐานความพร้อมทางการเงินจากแหล่งไม่ระบุที่มาและสถาบันเจพี มอร์แกน (JP Morgan) หนึ่งในสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือที่สุดของโลก
หลังจากที่อยู่ในช่วงฝันดีได้ไม่นาน ผู้คนทั่วโลกก็จับสังเกตท่าทีที่เปลี่ยนไปของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้หยิบยกประเด็นเรื่องของบัญชีปลอมและบัญชีสแปมขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง หลังจากช่วงแรกเจ้าตัวใช้เป็นเป้าหมายการเข้าซื้อเพื่อขจัดบัญชีปลอมและบัญชีสแปม ในตอนนี้เขากลับใช้มันเป็นข้อต่อรอง เริ่มจากในวันที่ 13 พฤษภาคม บนทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ประกาศหยุดการเข้าซื้อไว้ก่อน เพราะเขาเชื่อว่าปริมาณบัญชีปลอมและสแปมนั้นมีสูงมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขารับไม่ได้
และข้ออ้างนี้ก็เป็นเหตุให้การซื้อขายทั้งหมดนั้นจบลงในวันที่ 8 กรกฎาคม แม้ว่าก่อนหน้านั้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมทางทวิตเตอร์ (Twitter) ขู่ว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาจัดการก็ตาม ในเวลาต่อมาฝ่ายกฎหมายของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ทำหนังสือส่งไปทางทวิตเตอร์ (Twitter) เพื่อชี้แจงว่าการถอนตัวนี้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่บริษัทก็ยังเดินหน้าฟองต่อศาลในรัฐเดลาแวร์ ในขณะที่ฝ่ายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็คัดค้านการไต่สวนภายในปีนี้ โดยอ้างว่าต้องการเวลารวบรวมข้อมูลว่าบัญชีปลอมและสแปมนั้นมีมากเกินกว่าที่จะตกลงกันได้จริง ๆ แต่ท้ายที่สุดศาลก็ไม่รับฟัง และมองว่าการกระทำของฝั่งอีลอน มัสก์ (Elon Musk) จะส่งผลเสียต่อทวิตเตอร์ (Twitter) จึงได้นัดไต่สวนพิจารณาคดีครั้งแรกภายในเดือนตุลาคมนี้
แม้ว่าอีลอน มัสก์ (Elon Musk) จะประสบความสำเร็จในฐานะเจ้าของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เทสลา (Tesla) แต่ก็แลกมากับข่าวอื้อฉาวในการกระทำส่วนตัวของเขา ทั้งเรื่องข้อสงสัยการปั่นป่วนตลาดหุ้น ตลาดคริปโทฯ รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ชู้สาวกับผู้หญิงคนดังหลายคน เช่น แอมเบอร์ เฮิร์ต (Amber Heart) นักแสดงฮอลลีวูด (Hollywood) หรือแม้แต่ นิโคล ชานาฮาน (Nicole Shanahan) ภรรยาของเซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล (Google) ที่เป็นผู้ร่วมลงทุนคนแรก ๆ ของบริษัทเทสลา (Tesla) แต่ทางฝั่งอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว
ที่มาข้อมูล CNN, India Times
ที่มารูปภาพ Wikipedia, Unsplash