รู้จักซูเปอร์แอป “ทางรัฐ” มากกว่าแค่รองรับเงินดิจิทัลวอลเล็ท
นาง ไอรดา เหลืองวิไล รองผอ.(รักษาการผอ. )สำนักงานพัฒนาดิจิทัล(องค์การมหาชน) หรือ DGAเผยว่า แอป “ทางรัฐ” ถือเป็นแอปพลิเคชั่นทางลัดสำหรับติดต่อภาครัฐที่ยกระดับการให้บริการสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยได้ทั้งครอบครัว ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต เป็นบริการดิจิทัลของภาครัฐรูปแบบใหม่ที่นำบริการสำคัญของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้ประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลของตัวเอง “รู้-ยื่น-จ่าย-รับ” ได้ในแอปเดียว สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิว เป็นซูเปอร์แอปที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA และสำนักงาน ก.พ.ร. เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 มีประชาชนดาวน์โหลดมาใช้บริการในปัจจุบันราวหนึ่งล้านคน
วันนี้ แอป “ทางรัฐ” มีบริการต่างๆ ที่ได้รับความร่วมมือจาก 74 หน่วยงานครอบคลุมแล้วทั้งหมด 149 บริการ บริการที่มีประชาชนใช้มากที่สุดก็จะมีเงินอุดหนุน เด็กแรกเกิด, การดูเรื่องใบขับขี่, ใบสั่ง, ดูเรื่องประกันสังคม, ดูเงินสมทบชราภาพ หรือ เบี้ยผู้สูงอายุ จะเป็นบริการที่ประชาชนสนใจเข้ามาใช้เยอะมาก
“เราได้รับนโยบายจากทางรัฐบาล ในเมื่อแอปพลิเคชั่นทางรัฐ ได้ตั้งใจพัฒนามา เพื่อเป็น ซูเปอร์แอป สำหรับประชาชน ครอบคลุมบริการต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของการลงทะเบียน การรับสิทธิ์ต่างๆ การเข้ามาดูข้อมูลของประชาชน การชำระค่าบริการต่างๆ หรือ การรับเงินอุดหนุน หรือการรับเงินสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ ดังนั้นตัวแอปพลิเคชั่นทางรัฐ ก็คือตอบโจทย์ในนโยบายให้กับประชาชนอยู่แล้ว ก็เลยเป็นที่มาที่ทางรัฐบาลมองว่าแทนที่จะทำแอปขึ้นมาใหม่ ก็เลือกแอปที่มีอยู่แล้ว ซึ่งก็ตั้งใจให้มีบทบาทในตรงนี้อยู่แล้ว
ดังนั้นแอปพลิเคชั่นทางรัฐก็สามารถตอบโจทย์ ต่อยอด อัปเกรด เพื่อให้เป็นแอปที่สามารถลงทะเบียน สำหรับประชาชนเพื่อรับสิทธิ์ในการรับเงินดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท ของทางรัฐได้ และยังสามารถครอบคลุมถึงการลงทะเบียนซอฟพาวเวอร์ด้วย จะเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เราจะพัฒนา เพื่อให้สามารถลงทะเบียนได้ทั้ง ซอฟพาวเวอร์ และ ดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านแอปทางรัฐได้”
สำหรับช่องทางการดาวน์โหลดแอป “ทางรัฐ” นั้น รองรับทั้งระบบมือถือสำหรับไอโฟน และ แอนดรอยด์ สามารถดาวโหลด โดยพิมพ์คำว่า “ทางรัฐ” ก็จะเห็นชื่อแอป สามารถดาวน์โหลดได้เลย และจะต้องทำการยืนยันตัวตนเหมือนตอนการใช้สิทธิคนละครึ่ง ซึ่งในกรณีของประชาชนที่ไม่สะดวกยืนยันตัวตนผ่านแอปทางโทรศัพท์มือถือ หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถไปใช้บริการยืนยันตัวตนได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 ที่ตู้บุญเติม หรือไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ
ภาพและข้อมูล : สำนักงานพัฒนาดิจิทัล(องค์การมหาชน) หรือ DGA
เรียบเรียงโดย : นัฐทวี ชลีโสภณ