จีนพบ 'หินสลักอักษร' เกือบพันปี บนภูเขามรดกโลก
13 ส.ค. (ซินหัว) -- คณะกรรมการบริหารภูเขาไท่ซาน แหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน รายงานการค้นพบหินแกะสลักชิ้นใหม่ที่มีอายุสืบย้อนกลับไปมากกว่าเก้าศตวรรษ
ข้อความที่สลักบนหินผามีขนาดกว้าง 78 เซนติเมตร สูง 28 เซนติเมตร และมีอักษรจีนหลายสิบตัว ซึ่งรวมถึงรายชื่อบุคคล 5 คน โดยสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มผู้ปีนภูเขาไท่ซานด้วยกันในช่วงต้นฤดูร้อนปี 1102
จ้าวโปผิง เจ้าหน้าที่คณะกรรมการฯ ซึ่งพบหินแกะสลักระหว่างการสำรวจภูเขา กล่าวว่าหินชิ้นนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับใด อาจเป็นเพราะตัวอักษรที่มีขนาดเล็กเกินไป ตัวละราว 5.5 เซนติเมตร และอยู่ในสภาพแทบอ่านไม่ออกหลังจากผ่านการสึกกร่อนมานานหลายศตวรรษ
จ้าวกล่าวว่าภูเขาไท่ซานได้รับความนิยมในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวและศาสนสถานช่วงศตวรรษที่ 12 โดยประชาชนชอบแวะเวียนมางานวัดที่เชิงเขา หรือปีนขึ้นยอดเขาและสลักชื่อบนหินผาเพื่อยืนยันว่าเคยมาถึง
ทั้งนี้ ตัวอักษรแกะสลักบนหินชิ้นนี้จัดเป็นหนึ่งในงานแกะสลักเก่าแก่ที่สุดในพื้นที่ ขณะจารึกขนาดใหญ่บนภูเขาเริ่มเป็นที่แพร่หลายในยุคราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644)