รีเซต

“ชีวิตผมถูกลิขิตให้มาทำงานนี้” (ตอน 2)

“ชีวิตผมถูกลิขิตให้มาทำงานนี้” (ตอน 2)
77ข่าวเด็ด
22 พฤษภาคม 2563 ( 02:08 )
228
“ชีวิตผมถูกลิขิตให้มาทำงานนี้” (ตอน 2)

 

หมู่บ้านในประเทศไทยมีเกือบ 80,000 แห่ง ถ้าคนในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่ม จะมีการจับจ่ายเพิ่ม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากระดับหมู่บ้าน สู่ตำบล สู่อำเภอ สู่จังหวัด และทั่วทั้งประเทศ จะเปลี่ยนแปลง

 

สมาชิกที่อยู่ในกองทุนหมู่บ้านมี 13 ล้าน ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลในการจับจ่ายสูง เพียงแค่ซื้อ-ขาย กันในกลุ่ม ก็ส่งแรงสั่นสะเทือนได้แล้ว


 

“สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” (สทบ.) กำลังปรับบทบาทใหม่ นอกจากจะเป็น “เงินด่วน” ให้คนในหมู่บ้าน ตั้งเป้าสร้างผลลัพธ์ใหม่เพื่อ “สร้างรายได้” ฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทยที่จำเป็น ต้องเริ่มจาก “ครอบครัวของคนในหมู่บ้าน” ภายใต้ผู้อำนวยการคนใหม่ที่เน้น “ทำให้ดู” มากกว่า “พูด” ให้ฟัง

 

“รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ” หรือ “ผอ.เปิ้ล” เข้ามารับตำแหน่งที่นี่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เขาไม่ใช่นักทฤษฎี แต่เขาคือนักปฏิบัติ ความสนใจด้านการพัฒนาชุมชนมีเปี่ยมล้น ที่สำคัญเขาเข้าใจโอกาสและข้อจำกัดของสำนักงานแห่งนี้ในเชิงลึก และเตรียม “ทางออก” ให้ทุก ๆ เรื่อง เขาคือ เจ้าของคำพูดว่า “ถ้าพัฒนาฐานรากด้วยกองทุนหมู่บ้าน จะทั่วถึงและประสบความสำเร็จ”

 

วิธีทำงาน การสร้างชุมชน ใช้หลักคิดอะไร?

ผมคิดเสมอว่า ทำยังไงชาวบ้านถึงลืมหน้าอ้าปากได้ คนทำสวนผลไม้ พอมีคนมาเที่ยว ก็ต้องมาดูว่า การใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นยังไง ในท้องถิ่นอาจจะมีไกด์สักคน พาเดินดู ผมศึกษาดูแล้ว ผมว่า พวกนี้น่าจะเหมาะเป็นอาชีพเสริม ในเวลาที่มีเวลาว่าง ก็มาทำกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน คนทำไร่ทำสวน เขาก็ไม่ได้ทำสวนทุกวัน

 

ชาวบ้านจัดคิวกัน ใครมีคิวว่าง ก็มารับนักท่องเที่ยวไปเที่ยว ใช้หลักคือ ตรงไหนมีคนเข้าไป ตรงนั้นก็มีรายได้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาเที่ยว จะมาดูงาน คนที่ทำงานโรงงาน ถ้าอยากให้หมู่บ้านตัวเองมีรายได้เพิ่ม ก็ไม่ยาก พอถึงวันหยุด ก็ชวนเพื่อนไปเที่ยวบ้านตัวเอง เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนแบบง่ายๆ

 

หรือช่วงลูกปิดเทอม ชวนเพื่อนไปเที่ยวบ้าน ตอนแรกเราเคยทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ใช้ชื่อว่า ชุมชนชวนเที่ยว ถ้าไปเที่ยวชุมชน ควรมีโปรแกรมท่องเที่ยว โดยทำง่ายๆ มีคนมาต้อนรับ พาไปดู เคยจัดประกวดโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชน มีรางวัลให้ด้วย ตอนนี้จัดเป็นปีที่สี่แล้ว

 

ผมทำท่องเที่ยวชุมชนมาจนกระทั่งถึงวันที่ท่านรองนายก (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชวนให้ลงสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการที่นี่ ผมทำได้เพราะผมมีคอนเนคชั่นเยอะ ก็ได้เงินมาจากการท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง ตอนนั้นราว 7-8 ล้าน เวลาประกวด ก็ส่งคนไปเที่ยวจริง สมมุติเขาส่งมาประกวด 60 ที่ ก็ส่งคนไปเที่ยว แล้วให้คะแนน ทำให้ททท. รู้จักเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนด้วย

 

ศึกษาจากโมเดลอัมพวา

ถ้าจะทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำยังไงก็ได้ให้คนมาเที่ยว? ผมมองว่า
ท่องเที่ยวชุมชน คำนี้ในปีนี้จะเป็นคำแฟชั่น แต่เมื่อประมาณแปดปีที่แล้ว ยังไม่มีใครสนใจ เรื่องนี้ผมเรียนรู้จากท่านรองนายกด้วยนะ ท่านเห็นว่า การท่องเที่ยวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด เวลาคนมาเที่ยว เงินจะกระจายเป็นรายได้สู่ส่วนต่าง ๆ ได้เร็วกว่าแบบอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ คนยังไม่สนใจเรื่องเที่ยวชุมชน เพราะคนคิดถึงแต่ Destinations ต่าง ๆ เช่น ภูเก็ต

 

ผมมองไปสถานที่รกร้างว่างเปล่าด้วยนะ หรือบ้านเรือนคนยากจน บ้านริมถนน เคยคิดมั้ยว่า ถ้าเราคิดว่าจะไปอยู่ที่นั่น ไปนอนบ้านหลังนี้ที่มันผุ มันพัง อาจจะมีความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง เช่นว่า บ้านที่อยู่ริมคลองบึงมักกะสัน ผมเคยคิดว่า อยากไปนอน กลางคืนคงจะสวย เพราะผ่านไป มีไฟริมคลองอยากรู้เขาอยู่ยังไง ใช้ชีวิตยังไง แบบนี้ น่าจะมีคนชอบเหมือนกัน ไปเรียนรู้ ไปเห็นคน เห็นที่นา เห็นคนเลี้ยงควาย ไปใช้ชีวิตแบบเขา ทดลองดู สิ่งนี้น่าจะเป็นความสุขของคนได้

 

กองทุนหมู่บ้านไม่ควรทำหน้าที่แค่ปล่อยกู้?

ตอนผมสอบสัมภาษณ์มารับตำแหน่งนี้ ผมนำเสนอว่า ผมอยากทำแบบนี้ (ข้างต้น) ผมพูดสิ่งที่ผมอยากทำ ผมยืนยันว่า จะทำสิ่งที่ผมพัฒนา สิ่งที่ผมอยากทำ ตั้งแต่วันแรก

ถ้าดูวัตถุประสงค์ของสำนักงานมีห้าข้อ ก็มีให้ปล่อยกู้ข้อเดียว กองทุนหมู่บ้าน ถ้าไม่มีเงินล้านแรกที่ลงไป คงตั้งไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีเงินล้าน ก็ไม่มีทางตั้งหมู่บ้านได้ จริง ๆ เงินล้าน ถือเป็นเงินกู้ฉุกเฉิน ทำอะไรไม่ได้เยอะ ไม่ใช่เงินทำไร่ทำนา ซึ่งเป็นหน้าที่ธกส. อยู่แล้ว ถ้าใหญ่กว่านั้น ก็เป็นหน้าที่ธนาคารออมสิน แทนที่ชาวบ้านจะไปกู้เงินนอกระบบ ก็มาใช้กองทุนนี้

 

กองทุนหมู่บ้านคือตัวแทนที่ชัดเจนของหมู่บ้านนั้น ๆ ต่างจากสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน อย่างไร?
คนอยู่นอกหมู่บ้าน จะมาสมัครกองทุนหมู่บ้านไม่ได้ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ก็ต่างกันออกไป

 

หมู่บ้านคือหน่วยงานของหมู่บ้าน มีอยู่ทั่วประเทศ เราถูกนำไปใช้เป็นเงินกู้ เป็นเงินหมุนเวียนให้คนในหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านก็ถูกเข้าใจว่า ทำเรื่องนี้อย่างเดียว

อะไรคือความยากลำบากในการสื่อสารเรื่องนี้ให้คนรับรู้?
เราก็พยายามใช้สื่อออกไป ตอนแรกๆ คนก็ไม่เข้าใจ ถ้าไม่สำเร็จ ก็ทำตัวอย่างให้เขาดู จะทำทีทั้งประเทศไม่ได้ แต่ผลักดันทีละกองทุนได้ ตอนนี้ เกินครึ่งอยากทำเรื่องนี้มากกว่าในการจัดตั้ง คือ หนึ่งคน ต่อหนึ่งครัวเรือน มารวมตัวกัน มากกว่า 75% ของครัวเรือน ก็ตั้งเป็นนิติบุคคลได้ มีการเปลี่ยนมือได้ด้วย ไม่เหมือนกับสิ่งที่ดูแลชุมชนอย่างวิสาหกิจตัวกองทุนเป็นนิติบุคคล ก็เลยทำนิติกรรมกับใครก็ได้ สมาชิกรับผลประโยชน์ไป และมีเงินทุนหนึ่งล้านแรก ก็ยังอยู่

 

การทำงานน่าจะคล่องตัวกว่าหน่วยงานรัฐอื่น ๆ?

ถ้ากองทุนหมู่บ้านลุกขึ้นมาทำเรื่องการเพิ่มรายได้ให้สมาชิก ลดรายจ่าย ทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ก็จะช่วยแก้ไขความยากจนได้ ถ้าทำในระดับหมู่บ้าน ทำได้ทุกอย่าง จ้างงานได้ ซื้อเครื่องจักร พัฒนาอาชีพ ให้เงินทุนไปส่งเสริมสมาชิก ก็ทำได้อีก ถ้าพัฒนาฐานรากด้วยกองทุนหมู่บ้าน จะทั่วถึงและประสบความสำเร็จ

 

ที่สำคัญคือ ต้องสร้างกระบวนการซื้อขาย ให้ทุก ๆ สมาชิกเป็นผู้ซื้อและผู้ขายในตัวเอง คุณสร้างของและกินด้วย ซื้อขายกันเองในกลุ่มสมาชิก เราก็อยู่ได้แล้ว คนใต้ก็ซื้อข้าวอิสานกิน ส่วนการแลก เราต้องมีการซื้อขายกันจริง กองทุนที่ทำอาหารทะเล ก็เอาเงินไปซื้อข้าว แล้วเอาข้าวไปขายสมาชิกอีก (ไม่ใช่แลกสินค้ากันแบบบาร์เตอร์)

 

ถ้ามีการค้าขายระหว่างกัน ก็ต้องทำระบบ Logistics และเทคโนโลยี?
การขนส่งของกองทุนหมู่บ้าน ถ้าประหยัดที่สุด ในการขนส่งทางไกล ก็ใช้รถไฟ หรือใต้ท้องรถบขส. พอไปถึงท่ารถ ก็สร้างระบบขนส่งชุมชนให้เกิดขี้น ใช้ระบบ Time Sharing กัน รถคันไหนว่างจากงาน ก็ไปรับสินค้า แล้วส่งไปที่บ้านสมาชิก ถ้าทุกหมู่บ้าน มีขนส่งชุมชนที่ชาวบ้านทำกันเอง ก็ไปได้

 

ทางเรา ก็จะช่วยในเรื่องการสร้าง Platform หรือใช้ Grab แบบชุมชนไปรับของตรงนี้ ส่งไปให้ใครบ้าง

ตอนนี้ ยังไม่ได้ทำต้นแบบ กำลังคิดอยู่

 

ถ้าจะทำ ต้องเริ่มต้นยังไง?

เริ่มจากเลือกกองทุนสักกองทุน “ที่มีใจ” กับเรา หาคนที่ชอบการพัฒนา แค่กองทุนเดียวที่เกิดขึ้นจริง ก็นำมาใช้เป็นแบบอย่าง เอากองทุนที่ใกล้กทม. ก่อนก็ได้ ของส่งมาจากตจว. ก็โอเคนะ คอนเซ็ปต์เป็นแบบนี้ หาคนทำแอปพลิเคชันสักอันที่ง่ายๆ

 

ทุกอย่างที่พูดไป อยู่ในงบที่ขอไป สี่แสนล้านบาท ถ้าไม่มีงบไป เราก็ไปทำสักหมู่บ้านหนึ่งก่อนก็ได้ หาอาสาสมัครมาเริ่มทำ

เรื่องกองทุน เป็นเรื่องแบบ “พี่น้อง” ทั้งประเทศ พอมีตัวอย่าง และใช้วิธีจูงใจ จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ของกองทุนหมู่บ้าน ก็คือ ความสัมพันธ์ในแบบ พ่อกับลูก จริง ๆ แล้ว ขนาดลูกเรา เราก็สั่งไม่ได้ทุกเรื่อง เราเลยต้องทำตัวอย่างที่ดีให้เขาดู เอาลูกคนหนึ่งมาปั้น เพื่อส่งให้เดินตามรอย

 

อย่างความคิดเรื่อง Grab ชุมชน จริง ๆ ไม่ใช้เงินไม่เยอะนะ ผมคิดว่า ที่เขาทำกัน เขาจะหนักไปทาง (ใช้จ่าย) ด้านโฆษณา ด้านพีอาร์กันเยอะ มากกว่า ซึ่งเราไม่ต้องโฆษณา เราทำแล้วให้ชาวบ้านมาเรียนรู้เลย Grab ชุมชนก็อยู่ที่กองทุนหมู่บ้าน ทำหน้าที่บริหารไป ถ้าทำสำเร็จหนึ่งที่ ก็ Copy ลงไป ก็จะครบทุกหมู่บ้าน

 

งบสี่แสนล้านบาทที่ขอไป คาดหวังแค่ไหน?

ถ้าผมไม่ไปขอ ถือว่าเป็นความผิดผมนะ เพราะเป็นเงินที่ชื่อว่า เป็นเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก หมู่บ้านขอเงินก้อนนี้ ไปทำอะไร ชื่อก็ชื่อโดยตรงกับเราเลย ถ้าเราไม่ของบมาเลยสักบาท ก็ไม่ได้ ได้ไม่ได้ เป็นอีกเรื่อง เราก็ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว

 

ภาวะการว่างงาน แก้ยังไง?

เด็ก ๆ รุ่นใหม่ที่ว่างงาน ให้กลับไปที่หมู่บ้าน ไปสำรวจดูว่า หมู่บ้านตัวเองขาดอะไร เพราะถ้าหมู่บ้านทำงานโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ เชื่อมั้ยว่า จะเปลี่ยนโฉมหน้าของหมู่บ้านไปด้วย อยากพัฒนาก็ไปทำงานกับผู้ที่มีคนรู้จักในท้องถิ่นก่อน เงินก้อนที่ขอไป ก็เอาไปจ้างคนที่ตกงาน ให้กลับไปทำงานได้ด้วยที่หมู่บ้าน เอาเงินไปจ้างเขา ทำหน้าที่ สำรวจว่า ทำไมหมู่บ้านตัวเองพัฒนาได้แค่นี้ อาจทำเรื่องพัฒนาอาชีพ ไปเก็บข้อมูลมา มีปัญหาอะไรบ้างในการสื่อสารกับโลกภายนอก และควรจะแก้ไขยังไง

 

คนเหล่านี้ เด็กรุ่นใหม่ มีทักษะ ทำงานได้ เรื่องการออกแบบสอบถาม ถ่ายรูป เก็บข้อมูล เราจะลงมือแก้ไขให้แต่ละหมู่บ้าน ฟื้นตัวขึ้นมาได้

ผมมีแผนอยู่แล้วในหัวสิบแผน ปัญหาส่วนใหญ่ อยู่ในสิบแผนนี้ ถ้าตรงกัน ก็ให้ชาวบ้านดูว่าตรงมั้ย ถ้าตรงกัน ก็เริ่มลงมือทำ เขาอยากทำ แล้วดูข้อมูลว่า มีศักยภาพทำหรือเปล่า ให้พวกเขาไปเป็นนักหาข้อมูล เราก็จะมีเจ็ดหมื่นเก้าพันข้อมูลจากทุกหมู่บ้าน

 

ที่เมืองจีน เขามี 85 ล้านหมู่บ้าน เขาก็มี 85 ล้านแผน แล้วก็จ้างทีมงานมาตรวจเลย แล้วดูว่า จะแก้ไขยังไง แล้วนำเสนอให้ชาวบ้านฟังก่อนว่า จะทำเรื่องนี้โอเคหรือเปล่า ต้องเป็นความเห็นของชาวบ้าน ถ้าเขาโอเค ก็เริ่มทำ

 

ประเมินว่า ต้องใช้เวลาแค่ไหน?

ผมว่าเป็นปีกว่าจะสำเร็จ ข้อมูลที่ได้ ใช้ข้อมูลนี้ทำเรื่องต่อ ๆ ไปกับหมู่บ้านได้ด้วย เราก็จะเสนอตัวไปได้ว่า มีโครงการอะไร ก็ให้ทำผ่านกองทุนหมู่บ้านได้ทั้งหมด ตัวอย่าง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็ทำโครงการ บางหน่วยงานอาจเป็นสิบคนที่ชอบเรื่องเดียวกัน ก็มาทำโครงการด้วยกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้ทำให้ทั้งชุมชนได้รับการพัฒนาพร้อมกัน

 

จะทำยังไงให้คนเข้าใจสำนักงานกองทุน?

เราต้องทำสื่อให้ถี่ เนื่องจากพี่น้องเราเยอะ เราต้องสร้างตัวอย่าง ผมมี 13 สาขา ก็ไม่สามารถทำได้ในเวลาเร็ว สิ่งที่ทำได้ง่ายสุดคือ ทำยังไงให้เขา (ชาวบ้าน) มีรายได้ ใครมีรายได้ปุ๊บ ก็จะเป็นเรื่องน่าสนใจหมด ไม่ต้องไปสร้างเรื่องแบบว่า แนวคอนเซ็ปต์ หรือไปเอาคนไปอบรม ผมไม่เคยเริ่มเรื่องที่การอบรมนะ ผมเริ่มด้วยเรื่องการพาผู้ซื้อไปซื้อของที่ชมชน เขาได้เงินจริง ทำให้เดินต่อไปง่าย

 

ไม่ชอบเซ็น MOU?

ตอนนี้ ผมมีตลาดไท ผมมีตลาดอตก.ที่มาร่วมด้วย เขาอยากทำมินิอตก. ให้เอาสินค้าในหมู่บ้านไปวางขาย มีโลโก้ร่วมกันระหว่างอตก. กับกองทุนหมู่บ้าน แต่ผมบอกแบบนี้ ตลาดไท ถ้าคุณซื้อข้าวผมก่อนนะ พันถุง แสนกว่าบาท แล้วเราก็ทำข่าวออกไป คือให้คนรู้สึกว่า สำนักงานกองทุนนี้มีตังค์เข้าตลอด คนก็พูดปากต่อปากไป เกิดการค้าขาย ไม่ใช่นั่งรอทุกวัน

 

ผมใช้วิธีแบบนี้ อะไรที่จะให้ช่วย ให้เขาลงมือทำเสียเลย เป็นความร่วมมือทำ อย่าไปเขียน MOU มาก มันเสียเวลา เวลาผมเห็นคนเซ็น MOU เซ็นแล้ว ชาวบ้านไม่ได้อะไร อย่างทำงานกับอตก. อยากให้ร่วมมือกันใช่มั้ย ขั้นแรก ซื้อข้าวผมก่อนเลย ก็เท่ากับร่วมมือแล้ว ท่านซื้อ ผมขาย ได้ตังค์แล้ว พอเราเริ่มสักเรื่อง แล้วเราก็ขยับเรื่องต่อไป

 

ผมบอกกันบนโต๊ะเลย เพราะเราเป็นชาวบ้านไง เขาซื้อเรา เขามีแต่ได้บุญ คุณอย่าคิดไปเยอะว่า อร่อยหรือไม่อร่อย กินไปก็เคลิ้มไปด้วยนะ อย่างน้ำดื่ม ไม่ต้องคิดมาก ซดไปเหอะ แล้วอีกข้างนึง เขาก็รายได้เพิ่มขึ้น

 

อย่างอธิบดีกรมธนารักษ์ มาซื้อข้าวผม ผมก็บอก พี่ไม่ต้องคิดว่า ถูกหรือแพง เพราะเงิน 185 บาท ต่อห้ากิโลนะ ตกอยู่กับชาวบ้านทั้งหมด เหมือนกับว่าซื้อไปทำงานไป ไม่ต้องคุยเรื่องราคามาก

 

การช่วยเหลือเกษตรกร ต้องคิดก่อนว่า ซื้อในราคาที่แพง เพื่อนบางคนบอก อยากช่วยเกษตรกร แต่ไปต่อรองราคา ผมบอกว่า อย่างนี้ไม่ต้องซื้อหรอก ข้าวบ้านเรา ทุกเม็ดขายได้หมด ไม่ต้องทิ้ง มันไม่เน่า ถ้าอยากช่วยเหลือเกษตรกรต้องซื้อในราคาที่เขาอยากขาย ปัจจัยแรกในการตัดสินใจซื้อนะคือ การช่วยเหลือชาวบ้าน

 

อร่อยหรือไม่อร่อยคุณก็พิจารณาเอง เพราะคุณภาพของเราดีแล้ว ที่บ้านผม ผมถ่ายรูปข้าวกับน้ำ เพราะที่บ้านผม ผมเองก็กิน กินน้ำของหมู่บ้าน ห้องรองนายกที่ทำงาน ก็ต้องใช้น้ำของหมู่บ้าน

 

เข้าใจการหมุนเวียนของเงิน

พอชาวบ้านได้เงิน เขาก็จะไปซื้อของในชุมชนของตัวเอง ที่ตำบล หรือที่อำเภอ คนที่เป็นร้านค้าย่อย ๆ แถวนั้น ก็จะขายของหมด เกิดอะไรขึ้นล่ะ เขาไปสั่งร้านค้าใหญ่ ไปซื้อของมาเติม ไปซื้อของกทม.มาเติม ก็ไปสั่งโรงงานผลิต เศรษฐกิจก็ไปได้

 

ต้องเริ่มจากเล็ก ๆ ก่อน ทำยังไงก็ได้ ให้คนในชุมชน หรือในหมู่บ้าน มีเงินเหลือเยอะๆ จะได้ใช้จ่าย ซื้อร้านค้าใกล้ๆ ชุมชน ถ้าคุณไม่ดูแลเศรษฐกิจฐานราก ดูแลแต่ข้างบน จะค้าขายกันยังไง ผมมองไม่ออก ถ้าคุณให้เงินชาวบ้าน ชาวบ้านมีตังค์ ก็จะส่งเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยถึงข้างบนเลย

 

หนี้เสียของหมู่บ้านทำอย่างไร?

หมู่บ้านที่มีหนี้เสีย ไม่ต้องซีเรียส เพราะคนเขารู้จักกันหมด รู้ว่าใครเอาไป ถ้าทำเรื่องเงินไม่ถูกต้อง เงินสดก็เอาตังค์มาคืนนี้ เงินกระดาษ ก็เขียนรับสภาพหนี้ไป เอาเงินไปซื้อของสุรุ่ยสุร่ายหรือ? คนหนึ่ง เขากู้ได้ไม่เกินสามหมื่นบาท ที่บอกว่า กองทุนหมู่บ้านทำให้ประชาชนสร้างหนี้เสียเยอะ สามหมื่นกว่าบาท นี่เอง เอาหาร 12 เดือน ก็เดือนละสองพันบาทเองนะ จ้างมาถูบ้าน 12 เดือนก็ใช้หนี้ได้แล้ว ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่บทบาทเป็นปัญหาใหญ่

 

ทำเศรษฐกิจฐานราก อย่าใส่ผิดที่ หมายถึงอะไร?

ผมไม่รู้ภาพนี้จะได้ทำหรือเปล่า เพราะทำเศรษฐกิจฐานราก เรามักไปใส่ผิดที่ผิดทาง ถ้าไปใส่หน่วยงานอื่น เช่น หน่วยงานดูแลคน 10 คน เขาก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินจริง แต่ก็จะได้แค่ 10 คน ไม่ใช่ได้ทั้งหมู่บ้าน ไม่ใช่ได้ทั้งชุมชน คนละแบบกัน หรือทำสหกรณ์ สหกรณ์ก็เป็นใครไม่รู้ ไม่ใช่ตัวแทนชุมชน แม้สหกรณ์ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ชาวบ้านก็ไม่ดีขึ้น มีแต่หมู่บ้านเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของชุมชน

 

ถ้าทำให้หมู่บ้านดูแลสมาชิก มีรายได้ดีขึ้น แปลว่า คนทั้งประเทศมีรายได้ดีขึ้น จะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุด บางทีคนบอกว่า กองทุนหมู่บ้านอ่อนแอ หรือว่าจะเป็นจริงก็แล้วแต่ คำว่า อ่อนแอหรือเข้มแข็ง ก็อยู่ที่ว่า คุณใส่ใจมันหรือเปล่า? ถ้าคุณส่งสรรพกำลังมาช่วยเหลือเรานะ ผมเชื่อว่า หมู่บ้านเข้มแข็งได้ ไม่ยาก ถ้าร่วมมือเอาใจใส่เรา เช่นว่า ให้เรามีพี่เลี้ยงเยอะๆ ตอนนี้เรามีสาขาอยู่ 13 สาขาเอง แต่ดูแลหกพันหมู่บ้าน ผมว่า ทำงานยากอยู่ ให้ผมดูแลโดยมีสาขาทั่วประเทศ ให้คนของสำนักงาน มีอยู่ในทุกจังหวัดก่อน ผมก็มีพี่เลี้ยงถ่ายทอดลงไป ผมเชื่อเลยนะว่า ประเทศฟื้นแน่นอน

 

แต่เราไม่มีเงินจัดตั้งทุกสาขาตอนนี้ คนในสาขาคือ เป็นลูกน้องเราโดยตรง เราสั่งการไป ทำได้งานได้เลย แต่ชาวบ้าน เป็น “พี่น้อง” เรา เราสั่งเขาไม่ได้ แต่จูงใจได้ สาขาเป็นแขนขาเรา เราขยับ ก็ขยับตามได้

 

กระบวนการทำงานเดิมที่มีระบบอำเภอ แล้วส่งเงินลงไป ก็มักจะเบิกเงินไม่สะดวก ชาวบ้านเบิกตังค์ที ให้นายอำเภอมาเซ็น บางหมู่บ้าน ก็มีกฎหมายกองทุน ก็ทำเองได้เลย หมดโควิดไป ผมคิดว่า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง กองทุนหมู่บ้านจัดตั้งให้คนในพื้นที่ดูแลตัวเองได้ ถูกหรือผิด ก็เป็นเรื่องของชุมชนนั้นเอง เป็นสิ่งจะเขาจะพัฒนา ก็ต้องให้อิสระเขาในการดูแลตัวเอง ไม่ใช่เราไปคิดว่า เขาทำงานไม่ดี แล้วหาคนไปสั่งสอนเขา

 

ถ้าทุกคนเห็นด้วยกับผม มาช่วยผมทำ ถ้าคิดว่า กองทุนหมู่บ้านเป็นหน่วยหนึ่งของรัฐบาลที่เอาเงินใส่ลงไป แล้วให้เขากู้กัน ก็คิดแค่นี้ ต้องเปลี่ยนความคิด การขับเคลื่อนหมู่บ้าน คือการขับเคลื่อนประเทศ ต้องใช้พลังเยอะ ต้องใช้แรงให้คนเห็นด้วยเยอะ พูดให้คนเข้าใจเยอะ แม้กระทั่งคนทำงานทุกวันนี้ ก็ต้องสื่อสารกัน ชื่อกองทุนหมู่บ้าน ทำให้คนสับสน ผมต้องอธิบายทุกวันเลย แต่ผมก็พยายามอธิบายไปนะ

 

พลังของหมู่บ้าน ทำยังไงให้เกิด?

ยกตัวอย่างนี้ มังคุด ถ้าล้นตลาด ทำไง 12 ล้านเก้าแสนลูก ก็ให้หมู่บ้าน เขากินคนละลูก ทั้งประเทศ ก็หมด นี่คือกำลังของกองทุนหมู่บ้าน เราต้องสอนให้เขารู้ว่า เขามีพลัง ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ตอนนี้เขาอาจจะยังคิดเองไม่ได้ เราก็ต้องบอกให้เขารู้จักเรื่องนี้

 

คนเราทำอะไร ก้าวไปพร้อม ๆ กัน ก็จะทำให้มีพลัง ผมก็พยายามคุยกับพ่อค้า ถ้าคุณให้สิทธิพิเศษสมาชิกกองทุน จะทำให้กองทุนตื่นตัวในแง่พลังของสมาชิก บางสินค้า ถ้าเขาขายผ่านระบบร้านค้า เขาก็โดนตัดไป 30% ถ้าเปลี่ยน ตรงนี้ เอามาให้หมู่บ้าน ลดให้กองทุนหมู่บ้านไป แล้วเอา 5% มาเป็นค่าขนส่ง 25% เอามาเป็นส่วนลดให้สมาชิกทั้งหมด จะทำให้สมาชิกเราตื่นตัว กินไปพร้อมกัน ทำให้สามารถลดราคาได้

 

สัมภาษณ์พิเศษ :
ผอ.กองทุนหมู่บ้านคนใหม่ รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ

โดย :
วิทยา แสงอรุณ


 

 

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง