รีเซต

กฟผ. หนุนเทรนด์ขนส่งสาธารณะแห่งอนาคต ด้วย ‘วินอีวี-รถ-เรือไฟฟ้า’

กฟผ. หนุนเทรนด์ขนส่งสาธารณะแห่งอนาคต ด้วย ‘วินอีวี-รถ-เรือไฟฟ้า’
77ข่าวเด็ด
28 กันยายน 2563 ( 01:00 )
149
กฟผ. หนุนเทรนด์ขนส่งสาธารณะแห่งอนาคต ด้วย ‘วินอีวี-รถ-เรือไฟฟ้า’

ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV : Electric Vehicle) นับเป็นก้าวสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ จากการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือแก๊สเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ทำให้ทั่วโลกสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และช่วยลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 จากภาคการขนส่ง ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงนำร่องวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและเรือโดยสารไฟฟ้า รวมถึงการดัดแปลงรถยนต์เก่าและรถเมล์ ขสมก. ที่หมดอายุการใช้งานแล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะด้วยยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

วินอีวี–นำร่องสองล้อรักษ์โลก

 

จักรยานยนต์รับจ้าง ถือเป็นหนึ่งในรถโดยสารสาธารณะเป้าหมาย ที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมให้เป็นรถจักรยานยนต์รับจ้างไฟฟ้า เพราะเป็นรถโดยสารสาธารณะที่มีจำนวนมาก และได้รับความนิยมสูงจากประชาชน กฟผ. จึงมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้าง นำร่องให้บริการในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 51 คัน ภายในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน วิ่งได้ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดเป็นระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

 

โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถถอดแบตเตอรี่มาสับเปลี่ยน ที่สถานีชาร์จภายในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี และขับขี่ออกไปให้บริการรับ-ส่งได้เลย หรือจะเสียบปลั๊กชาร์จเข้ากับไฟบ้านได้ตามปกติ ช่วยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากน้ำมันเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งมีราคาถูกกว่า และไม่ปล่อยมลพิษซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 สู่อากาศ  นอกจากนี้ รถจักรยานยนต์รับจ้างไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการยังมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร ซึ่งหากผลการศึกษาวิจัยบ่งชี้ว่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสามารถช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ก็จะทำให้ประชาชนหันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างมากขึ้นด้วย

 

เรือโดยสารไฟฟ้า–ยานยนต์รักษ์น้ำ

รือโดยสารสาธารณะ

 

นับเป็นยานพาหนะทางเลือกของประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติด แต่เรือโดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเรือที่ใช้ระบบเครื่องยนต์ ซึ่งกินน้ำมันมากและสร้างมลพิษทั้งทางน้ำ เสียง และอากาศ กฟผ. จึงได้พัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้าฝีมือคนไทย ซึ่งเป็นเรือที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน ไม่มีการปล่อยมลพิษ หรือส่งเสียงดังรบกวน โดยขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือโดยสารไฟฟ้าแบบท้องเดียว (Mono Hull) และเรือโดยสารไฟฟ้าแบบสองท้อง (Catamaran) สามารถแล่นได้ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 10 น็อต และรองรับผู้โดยสารได้ลำละ 80 ที่นั่ง

 

 

นอกจากนี้ ระบบปรับอากาศในห้องโดยสาร ยังออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาเรือทั้ง 2 ลำด้วย ซึ่งในระยะแรก จะนำไปทดสอบการเดินเรือ เพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ โดยนำมาใช้ในภารกิจของ กฟผ. ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคต เพื่อพัฒนาการเดินทางเชื่อมต่อ “ล้อ ราง เรือ” ให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

เปลี่ยนรถเก่าเป็นรถเก๋าด้วยพลังงานไฟฟ้า


กฟผ. ยังได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า โดยนำรถยนต์ส่วนบุคคลเก่าใช้แล้ว อาทิ ฮอนด้า แจ๊ส, นิสสัน อัลเมร่า และโตโยต้า อัลติส มาดัดแปลงด้วยชุดดัดแปลง EV Kit ที่ กฟผ. และ สวทช. ร่วมกันพัฒนาขึ้น ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงไม่รวมแบตเตอรี่ประมาณ 200,000 บาท

 

 

 

รวมถึงการดัดแปลงรถเมล์เก่าที่หมดอายุการใช้งานแล้วของ ขสมก. ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 100-250 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร ความเร็วสูงสุดมากกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ปักหมุด กฟผ. เป็นแหล่งพลังงานสำหรับระบบขนส่งและยานยนต์ไฟฟ้า
ก่อนจะดำเนินการส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ และรถโดยสารสาธารณะ อย่างเต็มรูปแบบ กฟผ. ในฐานะองค์กรหลักด้านพลังงานไฟฟ้า จะปักหมุดเป็นแหล่งพลังงานสำหรับระบบขนส่งสาธารณะและยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบด้าน อาทิ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ระยะเวลาในการชาร์จ เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนานวัตกรรมซึ่งเป็นหัวใจของยานยนต์ไฟฟ้าคือ 1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) 2. ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) และ 3. สถานที่ตั้งของสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานจริงของประชาชนในอนาคต

 


ยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นคำตอบของระบบคมนาคมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นวาระที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน เร่งพัฒนานวัตกรรม และแบ่งปันองค์ความรู้ ซึ่งไม่เพียงแค่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาคอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง