รีเซต

จันทร์สุดเศร้า เสาร์ร่าเริง "Weekend Effect" มีผลต่อสุขภาพจิตคนทำงาน

จันทร์สุดเศร้า เสาร์ร่าเริง "Weekend Effect"  มีผลต่อสุขภาพจิตคนทำงาน
TNN ช่อง16
11 เมษายน 2568 ( 16:17 )
8

เชื่อว่านี่เป็นประสบการณ์ที่คนวัยทำงานทุกคนต้องมี พอถึงวันศุกร์ที่ไรความเหนื่อยล้าทั้งหมดที่สะสมมาทั้งสัปดาห์หายวับเป็นปลิดทิ้ง ยิ่งใกล้ช่วงเลิกงานวันศุกร์ ระดับความร่าเริงพุ่งถึงขีดสุด แต่เมื่อวันจันทร์วนมาถึงใหม่ จิตใจกลับมาเหี่ยวเฉาอัตโนมัติ สิ่งนี้ในทางจิตวิทยา เรียกว่า Weekend Effect หากไม่จัดการให้ดี มีผลต่อสุขภาพจิตคนทำงานแน่นอน 



Weekend Effect คืออะไร?

เริ่มแรก Weekend Effect มีที่มาจากปรากฏการณ์ที่ผลตอบแทนของหุ้นในวันศุกร์มักจะสูงกว่าวันจันทร์อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผลตอบแทนในวันจันทร์บางครั้งอาจติดลบหรือใกล้เคียงกับศูนย์ ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นต่างพากันเครียด ห่อเหี่ยว และอาจหนักจนถึงซึมเศร้าได้เลยทีเดียว 

ต่อมา Weekend Effect ถูกนำมาใช้อธิบายสภาพจิตใจของคนทำงาน และพนักงานบริษัททั่วไป ที่เผชิญกับภาวะความเครียดเมื่อถึงวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นทำงานวันแรกของสัปดาห์ (หลายครั้ง เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าในวันจันทร์ หรือ Monday Blue) ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับวันศุกร์ วันสุดท้ายของการทำงาน ที่จิตใจของพวกเขา จะกลับมาร่าเริงลิงโลดอีกครั้ง เพราะจะได้หยุดพักซักที

Weekend Effect มีผลต่อสภาพจิต 

Weekend Effect อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวในกลุ่มคนทำงานที่มีความเครียดสูง อาจนำไปสู่อาการเครียดสะสม ที่มีผลต่อทั้งสุขภาพจิตและร่างกาย 

คนที่รู้สึกกดดันมากเป็นพิเศษในวันจันทร์ และมีความคาดหวังในชีวิตสูงซึ่งพอไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง  ทำให้มีอาการเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว อาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล ในอนาคตได้

งานวิจัยชี้ Weekend Effect มีผลกับการทำงานของแพทย์

มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อาจมีผลลัพธ์ในการรักษาแย่กว่าผู้ที่เข้ารับการรักษาในช่วงวันธรรมดา  

กล่าวคือ ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตมากกว่า แม้ว่าสาเหตุที่แน่ชัดยังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ปัจจัยที่เป็นไปได้รวมถึง การขาดแคลนบุคลากรในช่วงสุดสัปดาห์ แพทย์ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าปฏิบัติงานในวันหยุด และความล่าช้าในการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยต่างๆ

ตามข้อมูลจาก Patient Safety Network แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลช่วงดึกของวันศุกร์ไปจนถึงวันอาทิตย์ มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่า 

ขณะที่การศึกษาเมื่อปี 2017 นักวิจัยสรุปว่า ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้นถึง 19% ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติในวันธรรมดา

มีข้อโต้แย้งว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อาจเป็นเพราะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเวลาดังกล่าวมักมีอาการรุนแรงกว่า 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่ดำเนินการนาน 14 ปี ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ (Helsinki University Hospital) คัดค้านว่า แผนกศัลยกรรม อายุรกรรม ประสาทวิทยา สูตินรีเวช และเวชศาสตร์การคลอด เป็นแผนกที่ไวต่อ Weekend Effect มากที่สุด



ดูแลสุขภาพจิต ลดผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้นจาก Weekend Effect

1. ปรับมุมมองต่อวันจันทร์

แทนที่จะมองว่าวันจันทร์เป็น “วันแย่ๆ” ลองเปลี่ยนเป็น “การเริ่มต้นใหม่” ลองตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในแต่ละวันจันทร์ เช่น ดื่มกาแฟแก้วโปรด หรือจัดโต๊ะทำงานให้สดชื่น

2. จัดสมดุลระหว่างงานและชีวิต หรือ Work-Life Balance

พยายามอย่าทำงานล่วงเวลาในวันธรรมดา เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าใช้ชีวิตส่วนตัวแค่เสาร์-อาทิตย์ วางแผนทำกิจกรรมที่ชอบหลังเลิกงาน เช่น ออกกำลังกาย หรือดูซีรีส์สั้นๆ

3. วางแผนวันจันทร์ล่วงหน้า

จัดตารางงานวันจันทร์ตั้งแต่วันศุกร์ เพื่อไม่ให้รู้สึกกดดันตอนเริ่มต้นสัปดาห์

4. ใช้เวลาวันหยุดให้มีคุณภาพ

แทนที่จะนอนอย่างเดียว ลองทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกเติมเต็ม เช่น พบปะเพื่อน ทำอาหาร เล่นดนตรี และหลีกเลี่ยงการเช็กอีเมลงานในวันหยุด

5. ฝึกสติและการรับรู้ตนเอง (Mindfulness)

ใช้เวลา 5–10 นาทีต่อวันในการทำสมาธิหรือหายใจลึกๆ เพื่อช่วยให้จิตใจสงบ สังเกตอารมณ์ตัวเองเมื่อใกล้ถึงวันจันทร์ และพยายามเข้าใจโดยไม่ตัดสินตัวเอง

6. หากอาการรุนแรง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

หากรู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือหมดแรงตลอดเวลา หรือสังเกตได้ว่า สภาวะทางอารมณ์จาก Weekend Effect เริ่มมีผลกระทบกับงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบไปขอคำปรึกษากับจิตแพทย์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง