รีเซต

ผ่ากลยุทธ์หาเสียง สนามเลือกตั้ง‘อบจ.’

ผ่ากลยุทธ์หาเสียง สนามเลือกตั้ง‘อบจ.’
มติชน
23 พฤศจิกายน 2563 ( 13:03 )
133
ผ่ากลยุทธ์หาเสียง สนามเลือกตั้ง‘อบจ.’

หมายเหตุ – นักวิชาการมองการหาเสียงและกลยุทธ์การต่อสู้ของผู้สมัครชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภา อบจ. ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม หลังผ่านโค้งแรกมาเกือบ 3 สัปดาห์

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

 

บทบาทหน้าที่ของ กกต. ภายหลังมีการออกระเบียบและพยายามทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใส เป็นธรรม โดยเฉพาะการห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ในทางปฏิบัติอาจมีข้อจำกัด เพราะในข้อเท็จจริงแทบเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะนักการเมืองจะไม่เข้าไปมีบทบาทหรือมีอิทธิพลในการช่วยเหลือผู้สมัครหาเสียง จากข้อมูล พบว่าผู้สมัครส่วนใหญ่จะมาจากตระกูลการเมือง บางจังหวัดเป็นพี่น้อง เป็นบิดามารดา หรือคนใกล้ชิดหรือหัวคะแนนของนักการเมืองระดับชาติ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลเหล่านี้จะวางเฉย ไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ขณะที่ อบจ.คือ 1 จังหวัด 1 เขตเลือกตั้ง การมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเครือข่ายนักการเมืองกับข้าราชการ ก็ทำให้ กกต.มีความยากลำบากในการทำหน้าที่

 

ในฐานะนักวิชาการได้พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการเปิดเวทีให้แต่ละฝ่ายได้ดีเบต เพื่อนำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์ มีความคิดสร้างสรรค์โดยมีพันธสัญญากับประชาชนว่าจะเข้าไปทำหน้าที่อย่างไรในอนาคต ทำให้การปกครองท้องถิ่นมีความโปร่งใส เป็นรากฐานสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง เชื่อว่าจะนำไปสู่การยกระดับการเมืองท้องถิ่นให้ดีมีคุณภาพมากกว่าที่ผ่านมา

 

แต่ต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบบทบาทหน้าที่ภารกิจที่แท้จริงของนายก อบจ. เหมือนบทบาทของนายก อบต. นายกเทศมนตรี เพราะ อบจ.ไม่มีพื้นที่ทำงานของตนเอง ซึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการทำงานของ อบจ.ที่ผ่านมาที่ทำงาน เหมือนเป็นธุรกิจการเมือง ลงทุนทางการเมืองเพื่อแสวงหากำไร ใช้ อบจ.เป็นฐานการเมืองระดับชาติ ทำหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาล ทั้งที่ อบจ.ควรทำหน้าที่ในการบริหารโครงการขนาดใหญ่ เพราะ อบต.และเทศบาลมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ที่สำคัญ อบจ.ไม่ได้ทำหน้าที่ให้โดดเด่น ขาดการสื่อสารกับประชาชน อบจ.จะมุ่งเน้นในการทำโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนใหญ่จะละเลย ไม่สนใจในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข การดูแลผู้ด้อยโอกาส ทั้งที่สิ่งเหล่านี้หาก อบจ.สนใจจะทำ จะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้งบประมาณรายปีจำนวนหลายล้านบาท และในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงใน พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง ผู้สมัครนายก อบจ.ควรมีวิชั่นมองให้ไกลกว่าการทำโครงสร้างพื้นฐาน การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มการเมืองในพื้นที่ สำหรับประชาชนจะต้องติดตามตรวจสอบการทำงานให้มีธรรมาภิบาลและควรเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้เสนอตัวไปทำหน้าที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด

 

ที่น่าแปลกใจมากที่สุด หลังจากกฎหมายกำหนดให้มีนายก อบจ.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเกือบ 20 ปี แต่ยังเห็นผู้สมัครนายก อบจ.ต้องมีทีมผู้สมัคร ส.อบจ.ในทีมเดียวกันออกหาเสียงร่วมกัน ดังนั้น รูปแบบการเลือกตั้งจึงไม่ตอบโจทย์ในการถ่วงดุลการทำหน้าที่ของนายก อบจ.กับฝ่ายของสภาท้องถิ่นที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ทั้งที่การเลือกตั้งนายก อบจ.โดยตรง เพื่อต้องการให้มีอำนาจหน้าที่แยกออกจากฝ่ายสภา แต่พบว่านายก อบจ.กับ ส.อบจ.แทบทุกจังหวัดยังเป็นกลุ่มเดียวกัน ทำให้กลไกการถ่วงดุล การตรวจสอบจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่เอาไว้หลอกประชาชนที่เชื่อว่าจะมีการตรวจสอบแต่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

 

ยอมรับว่าการซื้อสิทธิขายเสียงนั้นยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่ตัวแปรชี้ขาด เพราะเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง จะต้องมีแจกมีจ่าย โดยเฉพาะเขตรอบนอก ไม่ใช่เขตในเมือง เพราะการซื้อเสียงนั้น ไม่เหมือนกับการซื้อปลาในตลาด ผู้ถูกซื้อและผู้ซื้อจะต้องทำตามสัญญา ซึ่งผลงานการวิจัยส่วนใหญ่ระบุออกมาว่า การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดในการเลือกตั้ง

 

รูปแบบการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ในรอบ 8 ปี พบว่าลักษณะภูมิทัศน์ภาพรวมของการเมืองท้องถิ่นมีการปรับเปลี่ยน แต่ถ้าดูจากตัวแทนผู้สมัครในจังหวัดภาคตะวันออกยังอิงกับตัวบุคคล ตระกูลการเมืองเป็นหลัก ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเริ่มเห็นผู้สมัครกลุ่มใหม่ที่มาพร้อมกระแสการเมืองแบบใหม่ เช่น ตัวแทนของกลุ่มก้าวหน้า ซึ่งส่งผลให้กลุ่มผู้สมัครเดิมหรือทีมใหม่ต้องแข่งขันด้วยการนำเสนอนโยบายกับประชาชนพิจารณา และกลไกการหาเสียง จะมีลักษณะคู่ขนาน มีทั้งนโยบายและคอนเน็กชั่นแบบเดิมในระบบอุปถัมภ์กับเครือข่ายการเมืองในพื้นที่ สำหรับการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงประชาชนมีข้อมูลว่านักการเมืองที่หาเสียงจะใช้ทุกรูปแบบโดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดีย รวมทั้งการเดินรณรงค์หาเสียงในรูปแบบเดิม

 

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านกฎหมายกระจายอำนาจ
และการปกครองท้องถิ่น

 

โดยหลักการพื้นฐานผู้สมัครนายก อบจ.และ ส.อบจ.เป็นฝ่ายการเมือง ดังนั้นในโลกความเป็นจริงจึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะมีเครือข่ายนักการเมืองในจังหวัดหรือในระดับชาติ เข้าหาช่วยเหลือเกื้อกูลในการหาเสียง แต่เมื่อ กกต.เขียนห้ามไว้ในมาตรา 34 ก็ต้องดูบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าจะมีสิ่งใดที่บ่งบอกหรือน่าเชื่อได้ว่าจะไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัคร แม้ว่าบุคคลที่เป็นรัฐมนตรี ที่ถืออำนาจรัฐ คุมข้าราชการประจำก็คงจะหาช่องทางไปช่วยเหลือได้เพื่อชิงความได้เปรียบ และส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรห้ามนักการเมืองไปช่วยเหลือเพราะนักการเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่นเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด


แต่เมื่อ กกต.ออกข้อห้าม เพราะมีเจตนาให้ผู้สมัครมีความเท่าเทียมกัน ก็ควรใช้อำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน เป็นธรรม อย่าเลือกปฏิบัติทำให้ประชาชนเห็นถึงศักยภาพ ความไว้วางใจในการใช้อำนาจหน้าที่ แต่ก็คงได้เห็นผลงานแล้วว่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 มี 350 เขต ผู้สมัคร ส.ส.มีหลายพันคน กกต.ทำได้เพียงแจกใบส้มเพียงใบเดียว และเมื่อมีการร้องเรียนในภายหลังก็บอกว่าไม่พบการทุจริต ล่าสุดเชื่อว่า กกต.คงทำงานลำบากเพราะความเชื่อมั่นติดลบไปแล้ว ที่สำคัญนักการเมืองคงไม่ได้เกรงกลัว ไม่เหมือน กกต.ยุคแรกที่สร้างผลงานไว้ดีมาก

 

สำหรับกระแสการหาเสียงก็คงมีการใช้ยุทธวิธีทุกอย่างทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อแลกกับโอกาสในการทำหน้าที่โดยนายก อบจ.ได้รับค่าตอบแทนเพียง 7 หมื่นกว่าบาท อยู่ครบ 4 ปี ได้ค่าตอบแทนไม่เกิน 3.5 ล้านบาท ที่น่าตลกกว่านั้น กกต.ได้กำหนดให้วงเงินหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.แต่ละจังหวัดไม่เท่ากันตามตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ บางจังหวัดให้นายก อบจ.ใช้งบหาเสียงไม่เกิน 19 ล้านบาท บางจังหวัดให้ใช้ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท แต่นายก อบจ.รับค่าตอบแทนเท่ากัน สิ่งนี้ก็ทำให้ประชาชนคงคิดได้ว่าถ้าชนะการเลือกตั้งแล้วจะเข้าไปทำอะไร ดังนั้น ผู้สมัครนายก อบจ.ในจังหวัดที่ใช้งบไม่เกิน 19 ล้านควรออกมาชี้แจงหลักการและเหตุผล

การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ก่อน กกต.จะประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา กกต.ต้องยอมรับความจริงว่ามีผู้สมัครบางรายได้ซื้อเสียงล่วงหน้ามานานในหลายรูปแบบทั้งพาคนไปเที่ยว สนับสนุนโครงการ ก่อนมีการกำหนดวันที่เริ่มนับวงเงินค่าใช้จ่าย ซึ่งยังมีการทำบัญชีผีไว้อีก แล้วทำบัญชีค่าใช้จ่ายปกติไว้หลอก กกต.

แต่อย่าลืมว่าการเมืองปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการตัดสินใจของประชาชนหรือคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเลือกตัวบุคคลจากนโยบาย วิสัยทัศน์ ความชื่อสัตย์สุจริต มีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเต็มที่ เพราะมีต้นทุนต่ำ ทำได้หลากหลายรูปแบบ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและสะดวก ดังนั้น การซื้อเสียงแบบเดิมอาจจะล้าหลังมีโอกาสเสียเงินฟรี

 

เชื่อว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้จะมีเครือข่ายนักการเมืองในสังกัดบ้านใหญ่หรือตระกูลดังบางจังหวัดจะสอบตก แม้ว่าจะมีการวางเกมด้วยการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม โดยก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์รัฐบาลกำหนดวันหยุดยาว ก็อาจจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่สะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้และจะทำให้ฐานการเมืองเดิมมีความได้เปรียบจากคะแนนจัดตั้ง

 

พุฑฒจักร สิทธิ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มรภ.สกลนคร

 

จากการติดตามแนวทางการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ยังใช้รูปแบบเดิม แต่จากการสอบถามประชาชนส่วนใหญ่พบว่ามีความต้องการให้ผู้สมัครนายก อบจ.ออกเดินหาเสียงด้วยตัวเอง เพื่อเปิดโอกาสให้ซักถามถึงแนวทางการทำงาน แทนการส่งทีมงานผู้ช่วยหาเสียงออกไปรณรงค์ในงานที่จัดตามประเพณี แต่น่าจะมีปัญหาติดขัดในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากพื้นที่เลือกตั้งเป็นจังหวัดขนาดใหญ่

 

สำหรับข้อห้ามตามมาตรา 34 จะพบว่าจะมีความซับซ้อนในวิธีปฏิบัติมากขึ้นของเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท เพื่อช่วยเหลือผู้สมัครบางราย และล่าสุดยังพบว่ามีบางพรรคการเมืองของฝ่ายรัฐบาลมีการกระทำที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตามข้อห้ามเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครบางราย และเชื่อว่าหลังสิ้นสุดการเลือกตั้งน่าจะมีผู้สมัครนายก อบจ.ที่สอบตกนำพยานหลักฐานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐตามที่กฎหมายกำหนดร้องเรียนถึง กกต.อย่างแน่นอน ที่สำคัญการซื้อเสียงเพื่อจูงใจยังมีตามปกติ แต่การมีส่วนร่วมจากประชาชนยังเป็นปัญหา เนื่องจากไม่มีใครกล้าเปิดเผยข้อมูล และเชื่อว่าในโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งคงมีการทิ้งทวนเพื่อออกอาวุธหนักกันอย่างเต็มที่ ขณะที่การทำงานของ กกต.มีข้อเรียกร้องให้วางตัวเป็นกลาง อย่าเลือกปฏิบัติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

เชื่อว่า กกต.จังหวัดไม่กำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเข้มข้นเหมือนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เพราะมีการแต่งตั้ง กกต.ท้องถิ่นของแต่ละ อบจ. เข้าไปทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ก็จะมีข้าราชการ ซึ่งอาจจะไม่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อให้คุณโทษกับผู้สมัคร ส่วนใหญ่จะทำตามพิธีกรรม เพราะไม่อยากเสี่ยงกับผลกระทบหลายประการของเครือข่ายการเมืองที่กุมอำนาจรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหากับตำแหน่งหน้าที่ในภายหลัง และบุคคลเหล่านี้จะอ่านเกมล่วงหน้า หรือทราบดีว่านักการเมืองกลุ่มใดจะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยไม่ประเมินว่าผู้สมัครบางรายประชาชนอาจจะเบื่อหน่ายเพราะไร้ผลงาน และการทำหน้าที่ของนายก อบจ.ยาวนานถึง 8 ปี น่าจะมีผลชี้ขาดกับการลงคะแนนเลือกตั้ง สำหรับการประกาศวิสัยทัศน์ของผู้สมัครนายก อบจ.ในภาคอีสาน เท่าที่ติดตามยังไม่มีการจัดเวทีดีเบตของผู้สมัครนายก อบจ.แต่กลุ่มนักวิชาการมีแนวคิดร่วมกันว่าอีก 10 วันก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งจะจัดเวทีดีเบตที่ จ.สกลนคร เพื่อให้ประชาชนติดตามรับฟังทั้งในห้องประชุมและมีการถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจอย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง