นักโบราณคดีจีนพบซากกาก 'เหล้า' อายุ 8,000 ปี

เจิ้งโจว, 18 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (17 ธ.ค.) คณะนักโบราณคดีจีนเปิดเผยการค้นพบหลักฐานอันเก่าแก่ที่สุด ซึ่งบ่งชี้ว่าชาวจีนรู้จักใช้เชื้อราข้าวแดง (monascus) ผลิตเหล้า ในหม้อดินเผาอายุ 8,000 ปี ที่ขุดพบในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของประเทศ
หลี่หย่งเฉียง ผู้ช่วยนักวิจัยของสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน ระบุว่ามีการตรวจพบเส้นใยของเชื้อราข้าวแดงปริมาณมาก และเม็ดแป้งจากข้าวหมัก ในซากกากจากหม้อดินเผาสองใบที่พบในแหล่งวัฒนธรรมเผยหลี่กั่ง
การค้นพบครั้งนี้บ่งบอกว่าหม้อดินเผาทั้งสองใบเคยถูกใช้ต้มเหล้าและกักเก็บเหล้า
อนึ่ง เผยหลี่กั่งเป็นหนึ่งในซากหมู่บ้านเก่าแก่ที่สุดในจีน มีอายุราว 8,000 ปี ถือเป็นหลักฐานสำคัญต่อการศึกษาต้นกำเนิดและพัฒนาการของการเกษตร การทำหม้อดินเผา อุตสาหกรรมทอผ้า รวมถึงเทคนิคการผลิตเหล้าในยุคโบราณกาล